เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) คาดการณ์ว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าในญี่ปุ่นจะปรับตัวลดลงอย่างมาก หากเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมกลไกการทำงานให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมได้ตามแผนการที่วางไว้
นายเดนิส ฟลอรี รองผู้อำนวยการของ IAEA และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยนิวเคลียร์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า "หากสถานการณ์เป็นไปตามคาด และการพิจารณามาตรการทั้งหมดเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในแผนแม่บท ปริมาณรังสีที่รั่วไหลออกมาใหม่จะลดน้อยลง และปริมาณรังสีทั้งหมดจะไม่สูงเท่ากับที่เป็นอยู่ในวันนี้"
นายฟลอรี อ้างถึงแผนแม่บทของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค ที่เสนอต่อ IAEA เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิให้อยู่ในภาวะเสถียรภายใน 6 - 9 เดือน
นายฟลอรีกล่าวด้วยว่า ทาง IAEA ต้องการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกลุ่มแรกเพื่อประเมินสภาพความเป็นจริงที่โรงงานดังกล่าวก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเรื่องความปลอดภัยนิวเคลียร์ในกรุงเวียนนาช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า IAEA จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เพื่อให้ความช่วยเหลือในการประเมินสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า และแนะนำแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้สถานการณ์และดำเนินการตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผนแม่บทฉบับนี้
นอกจากนี้ นายฟลอรีกล่าวด้วยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องประเมินสภาพของโรงงานนิวเคลียร์อื่นๆ ด้วย เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดนิ และโรงไฟฟ้าโอนากาว่า ในจังหวัดมิยากิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดมิยากิ และฟูกุชิม่า ต้องปิดทำการโดยอัตโนมัติหลังเกิดแผ่นดินไหว