"สุเทพ-กษิต"แจงสภาฯ เหตุปะทะเขมร มั่นใจนานาชาติเชื่อถือคำชี้แจงของไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2011 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลเอาใจใส่ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ใช้สติปัญญาในการแก้ไขและไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ หรือฟังเพียงกระแส เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลระยะยาว

พร้อมรับข้อเสนอแนะของสมาชิกไปปฏิบัติ ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งหมดเป็นเรื่องของชาติ ไม่ได้ใช้การเมืองคุมการทหาร เพราะไม่สามารถแบ่งฝักฝ่ายได้และทุกฝ่ายทำงานเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นายสุเทพ ย้ำว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน เพราะไทยต้องการอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติและมิตรไมตรี ไม่ประสงค์หรือกระหายสงคราม โดยหวังจะเจรจาระหว่าง 2 ประเทศในฐานะคู่ขัดแย้งเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าปัญหาเรื่องพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นเรื่องที่ต้องการการชำระสะสาง

ทั้งนี้ คณะกรรมการปักปันเขตแดนของ 2 ประเทศมีปัญหาในการดำเนินการ เพราะไปคาบเกี่ยวกับโบราณสถานที่สำคัญ และยังเชื่อมโยงกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมากจากกรณีปราสาทตาควายที่มีข้อตกลงให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอยห่าง 50 เมตร แต่กัมพูชากลับนำกำลังเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทหารไทยพยายามเข้าไปเจรจาให้ทหารกัมพูชาถอยออกไป แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเป็นที่มาของเหตุปะทะ

รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ประชาคมโลกจะเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงและไม่เชื่อกับข่าวที่ถูกบิดเบือด เนื่องจากสื่อต่างๆ เกาะติดสถานการณ์อยู่ตลอด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังนานาประเทศอย่างชัดเจนแล้ว และเชื่อว่าประชาคมโลกจะเชื่อถือข้อมูลที่ไทยชี้แจง

อย่างไรก็ดี กองทัพบกจะพยายามจำกัดพื้นที่การสู้รบให้อยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา โดยไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป รวมทั้งไม่มีการเสริมกำลังให้กองทัพเรือหรือกองทัพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะไปกลั่นแกล้งหรือขัดผลประโยชน์กับกัมพูชา และไม่มีผลประโยชน์ได้หรือเสียกับการที่จะต้องเกิดสงคราม โดยทางออกคือเรื่องนี้ คือ การหารือระหว่าง 2 ประเทศ โดยพรุ่งนี้(28 เม.ย.) จะเดินทางไปอินโดนีเซียและชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศอาเซียนให้รับทราบว่าที่ผ่านมาไทยให้ความร่วมมือในการพัฒนากัมพูชามาโดยตลอด ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ