สธ.กำชับ สสจ.ทั่ว ปท.กวดขันมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกแม้ผู้ป่วยลดลง

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2011 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยกำชับให้สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ทั่วประเทศเพิ่มความเข้มงวดกวดขันมาตรการป้องกันไข้เลือดออก โดยขอความร่วมมือประชาชนช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วันในช่วงฤดูฝน 3 เดือน หลังตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้วกว่า 9 พันราย แม้จะมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าปีก่อน

"ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่านิ่งนอนใจ เร่งดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างเข้มงวด หากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกให้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน 3 เดือนนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว

โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 9,418 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 14.83 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 7 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 53 พบผู้ป่วย 16,110 ราย เสียชีวิต 20 ราย ทั้งนี้เนื่องจากดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลางจำนวน 5,244 ราย เสียชีวิต 1 ราย รองลงมาคือ ภาคใต้พบผู้ป่วย 1,796 ราย เสียชีวิต 2 ราย ตามด้วยภาคเหนือพบผู้ป่วย 1,374 ราย เสียชีวิต 2 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 1,004 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กระบี่ สมุทรสาคร สตูล สงขลา ราชบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ชลบุรี และตราด

ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนทุกพื้นที่มีฝนตกหลายพื้นที่จนเกิดน้ำท่วมขังทำให้ปริมาณยุงลายมีมากขึ้น จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น อสม. และประชาชน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในบ้านเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน หากพบผู้ป่วยทีมเคลื่อนที่เร็วต้องออกไปควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 24 ชั่วโมง โดยพ่นสารเคมีที่บ้านของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกราย กำจัดยุงตัวที่มีเชื้อไข้เลือดออก โดยจะพ่นสารเคมีในรัศมี 100 เมตรรอบๆบ้านผู้ป่วยและชุมชน เพื่อป้องกันยุงตัวที่มีเชื้อโรคไม่ให้ไปกัดคนอื่นและไม่ให้ไปวางไข่แพร่พันธุ์ต่อ

สำหรับโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ โดยร้อยละ 95 เป็นยุงลายบ้าน อาศัยอยู่ในบ้านคน ชอบวางไข่ตามน้ำใสที่ขังนิ่ง อีกร้อยละ 5 เป็นยุงลายสวน อยู่ตามป่า ยุงตัวเมีย 1 ตัวมีชีวิตอยู่กัดคนได้นานถึง 30-45 วัน ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวหลังจากดูดเลือดคน จะวางไข่ได้ทุก 10 วัน ยุงตัวเมีย 1 ตัวจะวางไข่ 400-600 ฟอง และใช้เวลาฟักเป็นตัวยุง 7-11 วัน ดังนั้นวิธีการป้องกันดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ยุงเกิด ขอความร่วมมือประชาชนสำรวจกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขังภายในบ้าน เปลี่ยนน้ำในแจกันไม้ประดับ ขารองตู้กับข้าว ทุก 7 วัน รวมทั้งอย่าปล่อยให้มีน้ำขังตามภาชนะรอบๆบ้าน ยางรถยนต์เก่า และปิดฝาโอ่งน้ำ ไม่ให้ยุงไปวางไข่ได้ ปริมาณยุงลายจะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ