กรมชลฯ สั่งทุกโครงการชลประทานรับมือฝนตกหนัก ยันเขื่อนใหญ่ยังพร้อมรองรับ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2011 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการชลประทาน ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลาก เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก ด้วยการพร่องน้ำในเขื่อนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น โดยการพร่องน้ำนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน พร้อมทั้งกำชับให้ทุกโครงการฯติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในช่วงวันที่ 24-26 พ.ค. ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังปานกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังปานกลาง จะทำฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในช่วงวันที่ 27-29 พ.ค. ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงจะเลื่อนลงมาปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักที่อาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงวันที่ 24-26 พ.ค.ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และในช่วงวันที่ 27-29 พ.ค.ในภาคกลางและภาคตะวันออก

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ล่าสุด(25 พ.ค. 54) ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,805 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,972 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 319 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 182 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 433 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ