นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยวิธีการทางการแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1.ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเพิ่มรายการยาจาก 19 รายการเป็น 71 รายการ
2.ยาที่โรงพยาบาลผลิตเองหรือที่เรียกว่าเภสัชตำรับ 3.ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่อยู่นอกเหนือบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 27 รายการ ได้แก่ ยาประสะกะเพรา ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาประสะกานพลู ยาแสงหมึก ยามันทธาตุ ยาประสะเจตพังคี ยามหาจักรใหญ่ ยาตรีหอม ยาธรณีสันฑะฆาต ยาถ่าย ยาเหลืองปิดสมุทร ยาธาตุบรรจบ ยาจันทน์ลีลา ยาประสะจันทน์แดง ยาเขียวหอม ยามหานิลแท่งทอง ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมนวโกฐ ยาอำมฤควาที ยาประสะมะแว้ง ยาบำรุงโลหิต ยาประสะไพล ยาไฟประลัยกัลป์ ยาไฟห้ากอง ยาประสะเปราะใหญ่
และ 4.ยาที่ปรุงให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบโรคศิลป์
ทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 โดยได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขให้เน้นย้ำกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ให้สามารถดำเนินการตามระเบียบใหม่ของกรมบัญชีกลาง นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านพญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้ยาสมุนไพรปัจจุบัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วยังใช้ยาสมุนไพรไม่มาก ในปีที่ผ่านมามีการใช้ยาสมุนไพรไม่เกินร้อยละ 3 แต่คาดว่าหลังจากออกประกาศฉบับนี้แล้ว คาดว่าโรงพยาบาลระดับจังหวัดคือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป น่าจะมีการใช้ยาสมุนไพรเกินร้อยละ 5 ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชน น่าจะใช้เกินร้อยละ 10
ถ้าแนวทางในการเบิกจ่ายยาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความชัดเจนขึ้น ก็จะมีการใช้ยาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยการเพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่เป็นการใช้ยาแผนไทยทดแทนยาแผนปัจจุบันมากขึ้น มีการปลูกสมุนไพรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีที่จะนำยาแผนไทยมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง