กรมชลฯ เผยระดับน้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์เริ่มสูงหลังฝนตกชุก แต่มั่นใจไม่กระทบพื้นที่ตอนล่าง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2011 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน แจ้งว่า ในช่วง 1 — 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกกระจายทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์เริ่มสูงขึ้น โดยในวันนี้(31 พ.ค.) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์(บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา) วัดปริมาณน้ำไหลผ่านได้ 1,131 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่เขื่อนเจ้าพระยามีน้ำไหลผ่าน 896 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนล่าง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนล่าง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(31 พ.ค. 54) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 38,132 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 31,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,926 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,039 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 116 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 341 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 181 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 430 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ