นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงกรณีประเทศในแถบยุโรปมีการพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียอีโคไลว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าปนเปื้อนจากผักหรือผลไม้ หรือสาเหตุอื่นใด สำหรับมาตรการของ อย.ในการเฝ้าระวังอาหารนำเข้าช่วงรอบปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาได้เก็บตัวอย่างผักและผลไม้จากประเทศในแถบยุโรป ซึ่งผลการตรวจยังไม่พบสิ่งผิดปกติหรือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อการบริโภคแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาทุกด่านเฝ้าระวังอาหารนำเข้า ประเภทผักและผลไม้ ตลอดจนเนื้อสัตว์เป็นพิเศษ พร้อมทยอยเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งผลการตรวจเป็นอย่างไร จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบโดยทันที แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่พบเชื้ออีโคไล สายพันธุ์ O104:H4 ในประเทศไทย
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย.ขอแนะนำมายังประชาชนที่เดินทางกลับมาจากประเทศทางยุโรป และถือผักเข้ามาบริโภคเอง รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป ขอให้ล้างผักอย่างถูกวิธี เพื่อลดการตกค้างของสารฆ่าแมลง หรือเชื้อโรคต่างๆ โดยมีวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อมิให้เกิดโรคอุจจาระร่วง หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ โดยก่อนรับประทานผักและผลไม้ ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง โดยใช้มือคลี่ใบผักและเปิดน้ำไหลจากก๊อกแรงพอประมาณให้น้ำไหลผ่านผักประมาณ 2 นาที หรือลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี เด็ดผักเป็นใบๆ แล้วแช่น้ำสะอาด หรืออาจใช้น้ำส้มสายชู (5%) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมังแช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือจะใช้น้ำยาล้างผัก หรือใช้น้ำร้อนลวกผัก หรือจะใช้น้ำยาล้างผัก โดยปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้บนฉลากก็ได้
ในส่วนของการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยควรล้างเนื้อสัตว์ให้สะอาด และปรุงให้สุก อย่ารับประทานสุกๆ ดิบๆ เพราะจะทำให้เกิดโรคพยาธิ หรือท้องเสียได้ ที่สำคัญ ควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ควรล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ และป้องกันเชื้อโรคโดย "กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง"
อย่างไรก็ตาม ขอให้ชาวไทยอย่าตื่นตระหนกกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลในยุโรป อย. จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ผู้บริโภคทราบเป็นระยะๆ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวไทย