นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้สำนักการระบาย กทม.ประชุมร่วมกับกรมศิลปากร และคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาในการอนุรักษ์โบราณสถานและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงกับพระบรมมหาราชวังเป็นจุดอ่อนน้ำท่วมขังที่กรุงเทพมหานครมีโครงการเข้าไปปรับปรุงท่อระบายน้ำ ถ.มหาราช, ถ.สนามไชย, ถ.เจริญกรุง, ถ.พระพิพิธ และ ซ.ท่าข้าม ตั้งแต่ปี 52 แต่ยังไม่สามารถยังเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างแท้จริง และไม่เกิดความเสียหายในอนาคต จำเป็นที่กทม.จะต้องประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยกทม.จะชี้ให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนในระยะยาวว่าหากไม่มีระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ดีก็จะเป็นปัญหากับโบราณสถานบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ ถ.มหาราช, ถ.สนามไชย, ถนนเจริญกรุง, ถนนพระพิพิธ และซอยท่าข้าม มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมถนนสนามไชยและถนนมหาราช โดยการปรับปรุงท่อระบายน้ำถนนสนามไชยและถนนมหาราชให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 ม. พร้อมปรับปรุงท่อระบายน้ำเดิมในถนนเจริญกรุง, ถนนพระพิพิธ และซอยท่าข้ามให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 ม. เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำหลักลงคลองคูเมืองและลงแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสร้างบ่อสูบน้ำที่ปลายถนนสนามไชยและซอยท่าข้าม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำด้วย มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (52-54) วงเงินงบประมาณ 44,125,000 บาท ซึ่งจัดประกวดราคาและได้ผู้รับจ้างแล้ว
ทั้งนี้ จากการที่สำนักการระบายน้ำได้ประชุมเพื่อหารือกับคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน และกรมศิลปากรได้แจ้งผลการพิจารณา ว่าไม่เห็นชอบในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากในการขุดเจาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรได้แจ้งเรื่องการศึกษาแผนงานด้านโบราณคดีระบุว่า ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวปรากฏหลักฐานว่าเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชเยนทร์ฟากตะวันออก ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในราวปี 2228 อีกทั้งมีป้อมมหายักษ์ ตรงกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และป้อมหาฤกษ์บริเวณโรงเรียนราชินี มีกำแพงพระนครตลอดแนวถนนมหาราช โดยคณะกรรมการฯ ให้ปรับระบบและขนาดของการระบายน้ำให้ปรับขนาดจากรางยู ขนาด 0.30 ม. เป็นรางยูขนาด 0.60 ม. ทดแทนการใช้ท่อขนาด 1.20 ม. ในการก่อสร้างบ่อสูบน้ำไม่ให้ตั้งบนแนวกำแพงเมืองเดิม และไม่ให้เจาะผ่านแนวกำแพงเมืองเดิม
อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำพิจารณาเห็นว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบและรายละเอียดตามคำแนะนำของกรมศิลปากรดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมในระยะยาว