นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังนำฟอร์มาลินมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อและชะลอการตายของปลาในกระชังว่า ฟอร์มาลิน หรือ สารฟอร์มาลดีไฮล์ แม้จะมีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แต่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 จัดเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบการปนเปื้อนหรือตกค้างในอาหารจะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
สำหรับผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนฟอร์มาลินจะทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปากและคอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ท้องเสีย ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ อาเจียน และยังเป็นสารก่อมะเร็งในสิ่งมีชีวิตได้ หากตรวจพบสารฟอร์มาลินในอาหาร ดังนั้น การนำฟอร์มาลินมาใช้ในเชิงกำจัดโรคในปศุสัตว์ เกษตรกรต้องมีความรู้และมีความระมัดระวังในการใช้
ทั้งนี้ อย.แนะนำประชาชนสามารถใช้วิธีการดมกลิ่น เพื่อตรวจอาหารปนเปื้อนหรือตกค้างของฟอร์มาลินได้ หากอาหารมีกลิ่นแสบจมูก ให้สันนิษฐานว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่ ไม่ควรนำมารับประทานและก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหารควรล้างให้สะอาด และปรุงให้สุกด้วยความร้อน จะช่วยลดปริมาณสารพิษได้