นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย คุ้มค่า และสมประโยชน์ มีแนวทางในการปรับปรุงฉลากโภชนาการที่อ่านและเข้าใจง่าย
การจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) กำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในรูปแบบ GDA กับอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยประกาศฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค.54
สำหรับผู้ผลิต/ผู้นำเข้า สามารถใช้ฉลากเดิมที่เหลืออยู่ต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ในส่วนอาหารอื่น ๆ จะทยอยบังคับใช้ต่อไป สำหรับผู้ที่จะนำฉลากรูปแบบ GDA ไปใช้ด้วยความสมัครใจ สามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ของอาหารให้เป็นไปตามรูปแบบและเงื่อนไข เช่นรูปทรงกระบอกหัวท้ายมนตั้งเรียงติดกันจำนวน 4 แท่ง แสดงค่าพลังงานเป็นค่าต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่คำนวณได้จากปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคคูณจำนวนหน่วยบริโภค โดยหน่วยของพลังงาน เป็น กิโลแคลอรี หน่วยของน้ำตาล และไขมันเป็น กรัม หรือ ก. และหน่วยของโซเดียม เป็น มิลลิกรัมหรือ มก.
นอกจากนี้ จะต้องแสดงข้อความด้วยขนาดตัวอักษรที่เห็นได้ชัดเจนว่า “คุณค่าทางโภชนาการต่อ..." “ควรแบ่งกิน....ครั้ง" (ในกรณีที่ต้องแบ่งรับประทาน) และ “คิดเป็นร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน" เป็นต้น