นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเรือบรรทุกน้ำตาลพ่วงขนาดใหญ่ 3 ลำ ล่มลงบริเวณ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลทำให้น้ำตาลจำนวน 2,400 ตันปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.54 กรมประมงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชังให้ทราบ เพื่อเตรียมการแก้ไขและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับรวบรวมและช่วยเหลือพันธุ์ปลาในแม่น้ำที่ลอยขึ้นมาจากอาการขาดออกซิเจนไปพักไว้ในสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นขณะนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบ สาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในสัดส่วนร้อยละ 60 ของความเสียหายจริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3,601,528 บาท
นอกจากนี้ จังหวัดยังสามารถให้ความช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการ ว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2552 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 27 ก.พ.52 กำหนดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์และอื่นๆ ตารางเมตรละ 257 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 314,054 บาท
ด้านนางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวกรมประมงสำรวจพบความเสียหายด้านประมงประกอบด้วย 1. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ได้รับความเสียหายใน 2 จังหวัด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 30 ราย 117 กระชัง พื้นที่ 2,293 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหาย 6,002,548 บาท
2. ความเสียหายของทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งเป็น 1) พบว่าปลาธรรมชาติในแม่น้ำ ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 60 ชนิด จากการประเมินในเบื้องต้นชาวบ้านและชาวประมงจับปลาที่ลอยหัวขึ้นมาม่น้อยกว่า 3,000 ราย ระหว่างวันที่ 1-5 มิ.ย.54 ราวรายละ 2—200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นปริมาณรวมไม่น้อย 50-60 ตัน กุ้งก้ามกรามความชุกชุมลดลง และอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายต่อพันธุ์ปลาที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาหนวดพราหมณ์ ปลากระเบนราหู ปลาหางไก่ ปลาม้า ปลาเค้าขาว ปลาแดง ปลาน้ำเงิน
2) ประชากรในแหล่งปลาหน้าวัดมากกว่า 50 วัด ได้รับผลกระทบ อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย 3) แหล่งอาศัยเสื่อมโทรม โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่หน้าดิน เช่น ปลากระเบนราหู ปลาลิ้นหมา และ 4) ผลกระทบต่อความเสียโอกาสในปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำและการแพร่ขยายประชากรปลา
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแผนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเสริมในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 50 ล้านตัว ในช่วงมิ.ย.-ก.ย.54 โดยจะเริ่มปล่อยครั้งแรกประมาณกลางเดือน มิ.ย.จำนวน 5 ล้านตัว ทั้งนี้ ข้อมูลที่กรมประมงดำเนินการรวบรวมทั้งหมดจะใช้ประกอบการฟ้องร้องกับผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อไป