ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมที่มีเด็กมาอยู่รวมกัน ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากช่วงก่อนเปิดเทอมกว่า 2 เท่าตัว โดยขอให่เนิร์สเซอรี่ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม เฝ้าระวังเด็กป่วยและเพิ่มมาตรการความสะอาดทั้งส่วนบุคคลและสถานที่ ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ ในโรงเรียน
"ขณะนี้ได้สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังโรค และเร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนทราบ" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว
ก่อนหน้านี้พบเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปากใน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคแล้ว
ปลัด สธ.กล่าวว่า หากมีเด็กป่วยขอให้แยกเด็กออกจากเด็กปกติ และส่งพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนเร็วเข้าไปสอบสวนโรคและควบคุมป้องกันโรคทันที หากมีความจำเป็นอาจใช้มาตรการปิดชั้นเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคมือเท้าปากในปี 2554 พบว่าแนวโน้มจะพบผู้ป่วยมากขึ้น ในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคม-20 มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 2,204 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกประมาณ 2 เท่าตัว ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ภาคเหนือพบป่วยมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะรักษาตามอาการ เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วันจะมีอาการเจ็บในปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ กินอาหารไม่ได้เนื่องจากมีตุ่มขึ้นในปาก โรคนี้ติดต่อง่าย โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง บางรายอาจมีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน หอบ แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่นสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิตได้