สธ.จัดแผนรับมือน้ำท่วมภาคเหนือ-อีสาน, เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำ

ข่าวทั่วไป Monday June 27, 2011 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุดีเปรสชั่น ไหหม่า ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัด 3 แผนรับมือน้ำท่วม ได้แก่ 1. แผนป้องกันน้ำท่วมสถานบริการในสังกัด ให้ขนย้ายเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ไว้ในที่ปลอดภัย 2. แผนการจัดบริการผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย ให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการฟรี ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือทีมแพทย์ฟรีที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และให้พื้นที่สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่นผู้ป่วยเรื้อรังช่วยเหลือตนเองได้น้อย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด ให้อยู่ในที่ปลอดภัย และแผนที่ 3 คือแผนการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ที่สำคัญเช่นไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง และไข้ฉี่หนู โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเพื่อป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ

ทั้งนี้ในส่วนกลาง ได้สำรองยาชุดน้ำท่วม เพื่อจัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 5 แสนชุด มูลค่ากว่า 17 ล้านบาท

ทางด้านนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด 4 แห่ง คือพื้นที่อำเภอท่าวังผา ระดับน้ำสูง 2 เมตร อำเภอภูเพียงและเวียงสา ระดับน้ำสูง 1 เมตร และอำเภอเมือง ระดับน้ำสูง 60 เซนติเมตร ยังไม่มีรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 4 ทีม ได้แก่ หน่วยแพทย์จากโรงพยาบาลสันติสุขไปให้การบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองจัน อ.ภูเพียง โรงพยาบาลแม่จริมให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฝ่ายแก้ว อ.ภูเพียง โรงพยาบาลนาน้อยและโรงพยาบาลนาหมื่นให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซาน อ.เวียงสา และโรงพยาบาลบ้านหลวงให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปางค่า อ.เมือง ออกไปให้บริการดูแลการเจ็บป่วยฟรี ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ได้แจกยาด็อกซี่ไซคลิน (Doxycycline) เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีประวัติลุยน้ำ และผู้ที่บาดแผล โดยสำรองยาดังกล่าวไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและส่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขถาภาพตำบลทุกแห่งด้วย และสำรองยาชุดน้ำท่วม ซึ่งจะมีชุดทำแผล ยาทาแผลสด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้าไว้ 1,000 ชุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ