นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกแล้วนั้น ยูเนสโกแจ้งว่ายังมีเวลาอีก 12 เดือนที่การถอนตัวดังกล่าวจะมีความสมบูรณ์ ซึ่งพันธมิตรฯ เห็นว่าในระหว่างนี้รัฐบาลจะต้องยืนหยัดในสิ่งที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่เป็นฝ่ายค้านคือ คัดค้านแม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ และขอบปราสาทเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ตอนเป็นฝ่ายค้าน
โดยล่าสุดได้เอกสารมาจากนางอีรีนา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ที่ออกแถลงการณ์แก้ตัวกับฝ่ายไทยว่าไม่ได้มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงแค่พิจารณาในการที่จะออกมาตรการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพย์สินปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ หลังจากที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ถอนตัวเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาได้อาศัยเวทีในเรื่องของมรดกโลกในการเจรจาพูดคุยกับกัมพูชาต่อไป
อย่างไรก็ดี เอกสารชิ้นดังกล่าวนี้นางอีรีนา ได้ยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ ผ่านทางยูเนสโกในประเทศไทยเช่นกัน และนายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าฝ่ายไทยอาจจะทบทวนการถอนตัวออกจากมรดกโลกเมื่อท่าทีดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าการถอนตัวออกจากมรดกโลกผ่านการตัดสินใจโดยนายสุวิทย์ครั้งนี้ ปรากฏชัดเจนจากคำสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ ว่านายอภิสิทธิ์ไม่ได้เห็นด้วยเลย แต่อาศัยว่านายสุวิทย์มีมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจเต็มในการตัดสินใจไปแล้ว
"แต่กรณีนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้ามรดกโลกต่อ โดยที่อาศัยว่าสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ก็คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตทางบกแดนไทย-กัมพูชา ปี 2543 หรือ MOU 43 มันล้มเหลวในการขัดขวางในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก ไม่มีชาติไหนเขาเชื่อถือ MOU 43 ของฝ่ายไทย ไม่มีใครเขาฟัง แสดงว่าอำนาจต่อรองเกิดขึ้นเพียงเพราะว่าไทยถอนตัวออกจากมรดกโลกเป็นสาเหตุสำคัญ นายอภิสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์จะอ้างเรื่อง MOU 43 อีกต่อไปแล้ว เป็นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์จะต้องรับผิดชอบกับการยืนยันที่จะใช้ MOU 43 แล้วล้มเหลวในเวทีมรดกโลก โดยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรการ โดยที่นายสุวิทย์ ต้องถอนตัวออกจากมรดกโลกโดยทันที" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า เมื่อยูเนสโกได้ส่งหนังสือมาจึงเห็นว่าฝ่ายไทยไม่ควรจะกลับเข้าไปร่วมอีก เนื่องจากตอนสมัยที่เป็นฝ่ายค้านได้คัดค้านแม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหาร ดังนั้นจึงต้องยืนยันตามนั้น ไม่ใช่ไปเดินหน้ารับรับรองการอนุรักษ์การจัดการ ทั้งที่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่ขอบๆ ไปด้วยยังคงอยู่เหมือนเดิม มีการฝ่าฝืนต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญของไทยว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชานั้นเป็นแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ที่สำคัญยูเนสโกโดยเฉพาะคณะกรรมการมรดกโลกได้ฝ่าฝืนมติของตัวเอง ว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายไทยด้วย
"กรณีนี้ถือได้ว่าทางคณะกรรมการมรดกโลกได้หมดความชอบธรรมแล้ว ที่ฝ่ายไทยจะยังคงธำรงอยู่ หรือว่ายังคงสถานภาพการเป็นภาคีสมาชิก และการถอนตัวนั้นฝ่ายคณะรัฐมนตรีจะต้องยืนยันเหมือนเดิม ไม่ใช่เป็นอย่างที่นายอภิสิทธิ์หรือนายปณิธานอ้างคลุมเครือว่าอาจจะมีขึ้นไม่ได้ ต้องยืนยันให้ชัดเจนว่าเราไม่ได้เห็นด้วย และเราก็ถอนตัวแล้ว สืบเนื่องมาจากว่าการขึ้นทะเบียนที่ผ่านมานั้นเป็นการขึ้นทะเบียนที่ขัดต่อมติคณะกรรมการมรดกโลกเอง ขัดต่อเจตนารมณ์และธรรมนูญของยูเนสโก ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ทำลายสันติภาพในภูมิภาคนี้ เราหวังว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติยืนยันในการถอนตัวต่อไป" นายปานเทพ กล่าว
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการขัดและแย้งกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก มาตราที่ 11 อย่างชัดแจ้งมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งมาตรา 11 ข้อ 3 ระบุว่าในการพิจารณาบรรจุทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติให้อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินที่จะพิจารณาบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก มีที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตหรืออำนาจอธิปไตย หรือเขตอำนาจศาลมากกว่า 1 รัฐ จะต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้อ้าง MOU 43 ซึ่งใครไปอ่านทั่วโลกก็เป็นที่ยอมรับว่ารัฐบาลที่ไปทำ MOU 43 ไปยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ให้กัมพูชานำมาอ้างในการที่จะกำหนดการสำรวจและปักปันเขตแดนขึ้นมาใหม่ โดยฝ่ายไทยอ้างสนธิสัญญา ฝ่ายกัมพูชาอ้างแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ทั้งสองฝ่ายทำหลักฐานทั้งสองไปทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสำรวจปักปันเขตแดน เมื่อเป็นเช่นนี้กัมพูชาจึงต้องอ้าง MOU 43 ว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบถ้าพิจารณาตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตาม MOU แล้วอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไทยก็ยังโต้แย้งว่าตามสนธิสัญญานี้ไม่ใช่ เป็นพื้นที่ของไทย และการสำรวจปักปันเขตแดนได้จบสิ้นไปแล้ว แสดงว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในกรณีนี้ข้อโต้แย้งเรื่องปัญหาดินแดน เอกราช อธิปไตยมาตั้งแต่ต้น และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลกจะสามารถยอมรับให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านายสุวิทย์ ได้ทำหน้าที่ยืนยันเรื่องนี้ว่าถ้าหากจะมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในกรณีปราสาทพระวิหารนี้ จะต้องมีการตกลงและพูดคุยกันเรื่องปัญหาเส้นเขตแดนให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ พยายามจะทำเรื่องนี้ให้เป็นลักษณะสมประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชาและสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาโดยตลอด แม้กระทั่งวันนี้ที่นายสุวิทย์ได้ยื่นหนังสือเพื่อลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกแล้ว รัฐบาลก็ยังมีความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้กลับคืนไปสู่สถานะเดิม คือกลับคืนไปสู่วาระการพิจารณา เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาให้เดินหน้าต่อไป โดยมาตรา 35 ของกฎอนุสัญญามรดกโลก ที่นายสุวิทย์ยื่นหนังสือลาออกนั้น ประเทศรัฐภาคีมีสิทธิ์จะบอกเลิกการเป็นสมาชิกในอนุสัญญานี้ได้ ประการต่อมาเหตุผลที่เรามีสิทธิ์และเหตุผลที่เราเลิกก็อย่างที่นายสุวิทย์แถลงไปแล้ว และการบอกเลิกต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร เสนอต่อผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก วันนี้ยื่นไปแล้ว แล้วยูเนสโกพยายามมาล็อบบี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้กลับลำกลับเข้าไป และ ครม.กำลังมีการประชุมเพื่อทบทวนเรื่องนี้
นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความอัปยศและเป็นเรื่องที่ควรประณามนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ประชาชนไทยและนายสุวิทย์ ทำหน้าที่เพื่อปกป้องเอกราช อธิปไตย และถอนเรื่องนี้เพราะเห็นว่าถ้าหากเดินหน้าต่อไปนั้นเราเสียดินแดนและถูกผนวกพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการ ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาแน่ และเรื่องนี้มีบรรจุอยู่ในวาระการประชุม และที่ประชุมก็ดึงดันจะนำเข้าที่ประชุม โดยไม่ฟังเสัยงคัดค้านนายสุวิทย์และคณะผู้แทนไทย นายสุวิทย์ และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม ในฐานะผู้สังเกตการณ์ไปร่วมประชุมก็ยืนยันในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม การออกจากภาคีมรดกโลกนั้นจะมีผลในอีก 12 เดือนข้างหน้ ซึ่งในระหว่างนี้อาจจะทำให้รัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการกลับเข้าไปในจังหวะเวลานี้ ย่อมเป็นการที่ไม่เหมาะสม เพราะเราเพิ่งประกาศถอนตัวออกมา และทางฝ่ายกัมพูชา ยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไปในทิศทางที่จะเป็นไปตามข้อเรียกร้องของประเทศไทยเลย ดังนั้นก่อนจะพิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารนั้นจะต้องพิจารณาเรื่องปัญหาเขตแดนและข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะขัดกับอนุสัญญามรดกโลกและขัดกับหลักปณิธานของยูเนสโกที่จะส่งเสริมสันติภาพและความสามัคคีในภูมิภาค เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทขัดแย้งถึงขนาดสู้รบกันในพื้นที่นั้นมาแล้ว
"แม้เราไม่เข้าเป็นภาคีมรดกโลก สถานที่ท่องเที่ยวหรือความเจริญทางวัฒนธรรมของไทยก็ขายให้กับคนทั่วโลกได้ มรดกโลกไม่ได้ช่วยทำให้ขายดีขึ้น เป็นแต่เพียงเอาไว้อวดชาวบ้านติดป้ายว่าที่นี่เป็นมรดกโลก ถ้าสถานที่นั้นและวัฒนธรรมที่นำไปขึ้นทะเบียนนั้นไม่งดงาม ไม่น่าศึกษา ไม่น่าท่องเที่ยว ก็ไม่มีประชาชนประเทศไหนมาท่องเที่ยวอยู่ดี เราสามารถเดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้ด้วยประชาชนของประเทศนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปยอมแลกและเสี่ยงกับการที่จะเสียดินแดนและอธิปไตย" นายประพันธ์ กล่าว
โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรฯ เห็นว่า ถ้าหากรัฐบาลจะมีการทบทวนในเรื่องนี้จะถือเป็นความอัปยศที่สุด และจะเป็นเรื่องที่จะต้องประณามว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลขายชาติอย่างแท้จริง และเป็นรัฐบาลที่กระทำความเสียหายด้วยการยินยอมให้ MOU43 ยังสามารถมีผลบังคับใช้และเป็นหอกที่ทิ่มแทงประเทศชาติประชาชนอยู่ตลอดเวลา
"ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อที่เราเรียกร้องให้ยกเลิก ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และกดดันคนกัมพูชาและทหารกัมพูชาออกจากดินแดนจึงเป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลที่สุด ไม่ว่าใครมาเป็นผู้นำประเทศ ผู้ปกครองประเทศ ถ้าดื้อด้าน ดึงดันในสามข้อนี้ คิดว่าประชาชนจะไม่มีวันยอมอย่างแน่นอน" นายประพันธ์ กล่าว