นายกฯ ยันต้องเจรจากับฝ่ายกัมพูชาก่อนตัดสินใจถอนทหารตามมติศาลโลกหรือไม่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 19, 2011 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกรณีศาลโลกมีคำสั่งให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทโดยรอบปราสาทพระวิหาร โดยจะแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนของข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลโลกที่ระบุให้เป็นเขตปลอดทหารจะกินพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากยึดตามสันปันน้ำตามการแบ่งเขตของไทย จะกินพื้นที่ของไทยประมาณ 8.5 ตารางกิโลเมตร และกินพื้นที่ของกัมพูชา ประมาณ 8.8 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีกำลังทหารของกัมพูชาอยู่ประมาณ 4 พันนาย ส่วนกำลังทหารของไทยมีจำนวนน้อยกว่ามาก

ดังนั้น ต้องทำให้เกิดความเข้าใจว่าคำสั่งของศาลโลกที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร ไม่ได้แปลว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องดินแดน แต่ศาลโลกกำหนดขึ้นมาเองจากพื้นที่ที่คร่อมแนวสันปันน้ำ ซึ่งจะต้องไปดูรายละเอียดของพื้นที่ให้ชัดเจน

ส่วนเรื่องข้อกฎหมาย ต้องไปพิจารณาว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างไร โดยกรมสนธิสัญญาและคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไปดูว่าการดำเนินการต่อไปจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการเจรจาตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 190 หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการตามคำสั่งศาลคงจะไม่สามารถทำได้รวดเร็วในทันที เนื่องจากข้อเท็จจริงมีผู้เกี่ยวข้องมาก ทั้งกำลังทหารและพลเรือน จึงจำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องพูดคุยกัน ต่างฝ่ายต่างทำคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนเรื่องการตรวจสอบเรื่องชุมชนของกัมพูชาที่มาตั้งรกรากอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ว่า เป็นชาวบ้านจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นกำลังทหารที่ทางการกัมพูชาส่งเข้ามาแทรกซึม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ทหารของทหารยังคงทำหน้าที่ดูแลอธิปไตยตามปกติ ยังไม่ได้มีการถอนกำลังออกมาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ต้องไปศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพูดคุยกับทางกัมพูชา โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ซึ่งกลไกของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี) ยังเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยดำเนินการต่อสู้คดีและรักษาอธิปไตยของประเทศตามกรอบ และหลังจากนี้ที่กัมพูชาขอตีความบริเวณโดยรอบปราสาทตามคำพิพากษาปี 2505 กินอาณาเขตเท่าไหร่ เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่คงจะดำเนินการเต็มที่ ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีหลัก คงใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนกว่าที่ต่างฝ่ายต่างจะยื่นเอกสารโต้แย้งเพื่อหักล้างคดี

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ถูกทางการเยอรมันอายัดว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากอัยการสูงสุดว่ามีประเด็นข้อโต้แย้งที่สามารถสู้คดีได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งคดีหลักที่ศาลนิวยอร์คสั่งให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามอนุญาโตตุลาการนั้น รัฐบาลไทยจะใช้สิทธิ์อุทธรณ์ก่อนวันที่ 29 ก.ค. ส่วนรายละเอียดต้องรออัยการสูงสุดก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ