In Focusบันทึกโศกนาฏกรรมในนอร์เวย์...แดนสวรรค์กลางดงกระสุน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 27, 2011 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เสียงระเบิดที่ดังกึงก้องจากบริเวณทำเนียบรัฐบาลใจกลางกรุงออสโล และเสียงกรีดร้องด้วยความหวาดกลัวระคนกับเสียงรัวของปืนกลในเหตุกราดยิงค่ายยุวชนของพรรครัฐบาลบนเกาะอูโทยาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 กรกฎาคม) ได้ทำลายความเงียบสงบของดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความสงบสุขมากที่สุดในโลก

นอร์เวย์ ดินแดนอันแสนสงบที่เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2551 อาจกลายเป็นเพียงตำนาน ขณะที่ธรรมเนียมการมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ณ ดินแดนแห่งนี้ก็อาจหมดความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน หลังการก่อวินาศกรรมและการสังหารหมู่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 76 ราย (เหตุระเบิดในกรุงออสโล มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และเหตุกราดยิงที่เกาะอูโทยา มีผู้เสียชีวิต 68 ราย) กลายเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และถือเป็นเหตุโจมตีที่รุนแรงที่สุดของยุโรปตะวันตกในรอบ 7 ปี

การสังหารหมู่ในแดนสวรรค์

"Massacre in Paradise" หรือ การสังหารหมู่ในแดนสวรรค์ คือข้อความที่สื่อนอร์เวย์พาดหัวตัวโตเพื่อบอกเล่าถึงเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีเจนส์ สตอลเทนเบิร์ก ของนอร์เวย์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมของประเทศและเป็นฝันร้ายของชาวนอร์เวย์ทุกคน โดยเฉพาะกับเยาวชนประมาณ 600 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายบนเกาะอูโทยา เกาะสวรรค์ที่กลับกลายเป็นขุมนรกไปในชั่วพริบตา

ฮานา เด็กสาววัย 16 ปี ซึ่งรอดชีวิตเล่านาทีระทึกขวัญของเธอให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า "ตอนเกิดเหตุ เรากำลังจับกลุ่มคุยเรื่องเหตุระเบิดในกรุงออสโลกันอยู่ จู่ๆก็ได้ยินเสียงปืนดังสนั่น จากนั้นพวกเราทุกคนเริ่มวิ่งหนี ฉันเห็นตำรวจคนหนึ่งรัวปืนยิงเพื่อนๆ ทิ่ต่างวิ่งหนีและส่งเสียงร้องกันเสียงหลง"

ด้านเอลิส สมาชิกค่ายยุวชนอีกรายเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า เธอได้ยินเสียงปืนดังลั่น และเมื่อเห็นตำรวจมาก็คิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าตำรวจที่เธอเห็นคือ มือปืนที่ยิงเพื่อนๆนอนจมกองเลือดไปต่อหน้าต่อตา นอกจากนี้ เธอยังเล่าด้วยว่า เธอซ่อนตัวอยู่บริเวณโขดหินที่มือปืนรายนี้ยืนยิงปืนอยู่ ขณะที่เพื่อนเธอบางคนทำเป็นแกล้งตาย บางรายก็กระโดดลงน้ำ เธอจำไม่ได้ว่าต้องทนอยู่ในนาทีระทึกขวัญเป็นเวลานานเท่าไหร่ รู้เพียงว่า วินาทีนั้นเธอได้แต่ภาวนาให้ลูกกระสุนของคนร้ายหมดลงเสียที

ทั้งนี้ ดร.โคลิน โพล หัวหน้าทีมแพทย์ผ่าตัดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงออสโลระบุว่า ผู้ก่อเหตุใช้ลูกกระสุนชนิดพิเศษ ที่เมื่อเจาะทะลุเข้าร่างเหยื่อแล้วจะแหลกละเอียดเป็นเศษเล็กเศษน้อยและก่อความเสียหายต่อระบบอวัยวะภายในอย่างร้ายแรง ส่วนการผ่าตัดเก็บหัวกระสุนจากร่างเหยื่อที่ถูกกราดยิงบางส่วนนั้นไม่พบหัวกระสุนแบบเต็มลูกสมบูรณ์เลยสักนัดเดียว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิถีกระสุนเผยว่า ลูกกระสุนที่คนร้ายใช้สังหารนี้มีน้ำหนักเบา แต่มีความแม่นยำสูงเมื่อยิงจากระยะไกล

มือปืนโลกพระอาทิตย์ (เที่ยงคืน)

หลังจากที่เหตุโจมตีสองครั้งซ้อนได้สร้างความสะเทือนขวัญต่อผู้คนทั่วโลก ชาวนอร์เวย์เกือบร้อยทั้งร้อยต่างปักใจเชื่อว่า เหตุก่อการร้ายครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิม ทว่าในเวลาต่อมาพวกเขาและคนทั้งโลกก็ต้องตกตะลึงกันอีกระลอกเมื่อผู้ต้องสงสัยไม่ใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นชายผิวขาว ผมสีบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้า ผู้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า นายอันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ชายวัย 32 ปี เจ้าของรูปพรรณสัณฐานที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวนอร์วีเจี้ยนทุกกระเบียดนิ้ว

จากการสาวประวัติของเจ้าหน้าที่พบข้อมูลการโพสต์วิดีโอลงบนเว็บไซต์ยูทูบความยาว 12 นาทีของนายเบรวิก ที่ใช้ชื่อ "Knights Templar 2083" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เบรวิกมีความปรารถนาที่จะเป็นอัศวินเทมพลาร์ (Templar Knight) หรือกลุ่มอัศวินชาวคริสเตียนในช่วงสงครามศาสนาหรือสงครามครูเสดระหว่างชาวคริสเตียนกับมุสลิมในยุคกลาง ขณะที่บางรูปเป็นภาพของเขาเองที่สวมชุดประดาน้ำแบบหน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐ พร้อมกับโพสท่าทางกำลังเล็งปืนกล โดยเจ้าตัวอ้างจุดประสงค์ของการลงมือสังหารโหดครั้งนี้ว่า ต้องการที่จะ "ปฏิวัติสังคม"

ขณะเดียวกัน สื่อหนังสือพิมพ์ของนอร์เวย์หลายฉบับรายงานคำกล่าวของเพื่อนของนายเบรวิกว่า เขาเป็นพวกเอียงขวาแบบสุดโต่ง (right-wing extremist) ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 20 ปีเศษ ซึ่งสามารถดูได้จากข้อความตอนหนึ่งของไดอารี่ออนไลน์กว่า 1,500 หน้า ที่เขาเขียนไว้เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2552 ที่สะท้อนทัศนคติทางการเมืองที่รุนแรงของเขาในการโจมตีแนวคิดมาร์กซิสม์ รวมถึงการโบ้ยความผิดให้กับสังคมแบบพหุวัฒนธรรม

ด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งในไดอารีออนไลน์ความยาว 1,500 หน้าของนายเบรวิกที่เขาได้เขียนยกย่องญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศต้นแบบที่ไม่หลงไปกับกระแสหลากวัฒนธรรม โดยนายเบรวิกได้โพสต์ข้อความลงอินเทอร์เน็ตก่อนลงมือก่อวินาศกรรมสะท้านเมืองว่า เขามีภารกิจในการปกป้องยุโรปจากภัยก่อการร้าย การหลั่งไหลเข้าเมืองของผู้อพยพ และกระแสหลากวัฒนธรรมที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วยุโรป

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงขณะนี้ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแรงจูงใจ ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของคนร้าย แต่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เหตุระเบิดและการสังหารหมู่ในดินแดนที่เคยเป็นสรวงสวรรค์แห่งนี้คือส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อการร้ายสากล หรือเป็นความผิดเพี้ยนทางจิตของผู้มีความเชื่อทางการเมือง ศาสนา หรือสังคมแบบสุดโต่งจนถึงขั้นที่ควบคุมสติของตนไม่ได้ชั่วขณะ ที่สำคัญหากศาลไต่สวนพบว่านายเบรวิกมีความผิดจริง เขาจะได้รับโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายนอร์เวย์ นั่นคือ การถูกจำคุกเพียงแค่ 21 ปี

สวรรค์ในเรือนจำ

ดูเหมือนว่าโทษจำคุกนายบราวิกเพียง 21 ปีจะกลายเป็นอีกประเด็นเผ็ดร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนมองว่าโทษดังกล่าวจัดอยู่ในสถานเบาเกินไป ไม่สาสมกับผลกรรมที่นายบราวิกก่อไว้เลยแม้แต่น้อย เพราะหากนายบราวิกต้องโทษตามข้อกฎหมายเช่นนั้นจริง ก็จะเท่ากับว่าเขาได้อยู่ในคุกเพียงแค่ 82 วันต่อการสังหารเหยื่อผู้บริสุทธิ์ 1 คน แถมยังได้เข้าไปนอนในคุกที่ได้ชื่อว่า "สบายที่สุดในโลก" อีกต่างหาก

เรือนจำ "ฮาลเดน" ที่พำนักของนายบราวิกในอนาคตอาจเรียกได้ว่าเป็นเรือนจำที่โหดที่สุดในประเทศนอร์เวย์ แต่ที่แห่งนี้กลับเป็นเรือนจำที่สะดวกสบายมากที่สุดในโลก เพราะแม้จะเป็นที่คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ แต่นักโทษเหล่านี้จะมีห้องขังของตัวเองที่ก่อผนังด้วยคอนกรีตเสมือนห้องพักของโรงแรมก็ไม่ปาน แถมครบครันไปด้วยเตียงนอน ทีวี และตู้เย็นขนาดเล็ก มิหนำซ้ำบางห้องยังมีเครื่องเล่นดีวีดีและมีอินเทอร์เน็ตให้สามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากพัศดีเห็นว่าบรรยากาศที่ผ่อนคลายจะสามารถลดความก้าวร้าวของนักโทษลงได้บ้าง

นอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมที่ต้องการให้นายเบรวิกได้รับโทษประหารแล้ว นายเยนส์ เบรวิก บิดาบังเกิดเกล้าของคนร้ายที่ใช้ชีวิตหลังปลดเกษียณในวัย 76 ปีที่ฝรั่งเศสก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาแช่งชักหักกระดูกลูกในใส้ที่กระทำพฤติกรรมอันน่าละอายว่า "ลูกชายของเขาควรจะตายไปซะดีกว่า เพราะไม่มีคนปกติหน้าไหนฆ่าคนจำนวนมากได้อย่างหน้าตาเฉย"

"เป็นเรื่องเจ็บปวดมากที่พ่อคนหนึ่งจะสาปแช่งลูกของตัวเอง แต่จากนี้ไปผมคงจะไม่ติดต่อกับลูกอีก" นี่คือคำกล่าวสุดท้ายของเบรวิกผู้พ่อที่พูดถึงลูกชายของเขาในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในนอร์เวย์ หลังจากที่ผ่านมาเขาเองไม่เคยพบหน้าลูกชายมานานถึง 15 ปี

กระแสวิจารณ์จากประชาคมโลก

นอกเหนือจากประชาชนชาวนอร์เวย์ที่อกสั่นขวัญแขวนกับโศกนาฎกรรมสะท้านโลกในครั้งนี้แล้ว ผู้นำจากต่างประเทศทั่วโลกต่างตื่นตกใจและพากันประณามเหตุรุนแรงดังกล่าว รวมถึงแสดงความเสียใจกับชาวนอร์เวย์ทุกคน โดยมีนายเฮอร์แมน แวน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวโจมตีการกระทำของคนร้ายในครั้งนี้ว่า เป็นการกระทำที่ขี้ขลาดและไร้เหตุผล ขณะที่นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) แสดงความผิดหวังกับการกระทำอันน่าสยดสยอง ที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่า การก่อวินาศกรรมและการสังหารหมู่ที่โหดร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นในนอร์เวย์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งสันติภาพ

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ปรับของกลุ่มก่อการร้ายก็ออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกเพิ่มความร่วมมือด้านข่าวกรองเพื่อป้องกันมิให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นซ้ำรอย อีกทั้งยังเสนอตัวที่จะให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐมีส่วนร่วมในการสอบสวนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ โอบามายังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าเขายังคงรู้สึกถึงความประทับใจจากการต้อนรับอันแสนอบอุ่นในช่วงที่เขาเดินทางไปรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อเดือนธันวาคมปี 2552 ดังนั้น เหตุสะเทือนขวัญในครั้งนี้จึงสะเทือนอารมณ์เขาอยู่ไม่น้อย

ปิดท้ายกันที่ขาประจำอย่างนายบัน คี-มุน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่แสดงความตกใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ และประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมส่งสาสน์แสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจไปยังประชาชนชาวนอร์เวย์ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันโหดร้ายไปได้โดยเร็ว

บรรยากาศหน้ามหาวิหารออสโลในวันนี้ได้กลายสภาพเป็นทะเลดอกไม้ที่เรียงรายกินพื้นที่รอบทางเดินทั้งหมดท่ามกลางความเหงียบเหงาและความโศกสลด หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 กรกฎาคม) มีชาวนอร์เวย์ 150,000 คนเดินทางมารวมตัวกันอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีไว้อาลัยต่อเหยื่อวินาศกรรมและสังหารหมู่ผู้จากไปพร้อมกับชื่อเสียงของนอร์เวย์ที่เหลือไว้เพียงแค่อดีตของประเทศแห่งสรวงสวรรค์ในแถบสแกนดิเนเวีย

นอกจากนี้ มีประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ไม่ไกลจากเกาะอูโทยาได้ไปรวมตัวกันที่ใจกลางเมืองเพื่อฟังการอ่านบทกวี ร้องเพลงชาติ และวางดอกกุหลาบเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ล่วงลับ ก่อนจะพากันเดินวนรอบทะเลสาบไทริฟจอร์เด้น ที่อยู่ใกล้กับค่ายยุวชนบนเกาะอูโทยาเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร

ด้านนายกรัฐมนตรีเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก ของนอร์เวย์กล่าวต่อหน้าฝูงชนว่า ประเทศนอร์เวย์จะเปลี่ยนไปตลอดกาลจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ การรวมตัวของทุกคนเปรียบเสมือนการเดินขบวนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของชาวนอร์เวย์

...สุดท้ายนี้ In Focus ขอร่วมส่งกำลังใจให้ชาวนอร์เวย์สามารถตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ในดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน....


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ