กรมชลฯ คาดปริมาณน้ำสูงสุดไหลถึงเขื่อนเจ้าพระยาใน 6-7 ส.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2011 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าจะมียอดน้ำสูงสุดไหลถึงเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,500 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 6-7 ส.ค. 54 นี้ จากปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำยม และแม่น้ำปิง ที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนที่จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้สูงมากนัก กรมชลประทานได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอลดการระบายจากเขื่อนภูมิพล จากเดิมระบายวันละ 30 ล้าน ลบ.ม./วัน ให้เหลือ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาลดลง 200 - 300 ลบ.ม./วินาที

นอกจากนี้ กรมชลประทานจะใช้เขื่อนเจ้าพระยา และระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ โดยควบคุมน้ำเข้าระบบชลประทานที่ได้ทำการพร่องน้ำไว้แล้ว และควบคุมน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที

อีกทั้ง จะใช้ประโยชน์จากคลองบางแก้วและแม่น้ำลพบุรี ให้รับน้ำอ้อมเมืองอ่างทอง ได้อีกประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที เพื่อที่จะให้น้ำไหลผ่าน จ.อ่างทอง ในอัตราไม่เกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งได้เป็นอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีน้ำท่วมขังริมลำน้ำคาว อ.สันทราย โครงการชลประทานเชียงใหม่ เตรียมเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่อง ส่งไปช่วยเหลือแล้ว 2 เครื่อง คาดว่าเข้าสู่ภาวะปกติ 1-2 วันนี้

จังหวัดพิษณุโลก อ.วังทอง แม่น้ำวังทองเอ่อล้นตลิ่งท่วม ต.วังพิกุล ต.แม่ระกา ส่วนที่อ.นครไทย น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ต.นครชุม ต.น้ำกุ่ม ต.นาบัว ต.เนินเพิ่ม และที่อ.บางระกำ ระดับน้ำทรงตัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โครงการชลประทานพิษณุโลกได้ส่งเครื่องสูบน้ำเพื่อเข้าช่วยเหลือแล้ว จำนวน 13 เครื่อง ที่จังหวัดน่าน เกิดน้ำป่าไหลหลากจากต.ผาตูบ และต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่านเข้ามาทางลำห้วยเสี้ยว มีน้ำท่วมบริเวณตลาดเทศบาล(ตลาดบน) สูงประมาณ 20 - 30 ซม.คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้

ที่จังหวัดแพร่ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำยม ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร้องกวาง ต.แม่ยางตาลและเทศบาลตำบลร้องกวาง อำเภอเมืองแพร่ ต.ทุ่งโฮ้ง ต.ป่าแดง ต.กาญจนา ต.เหมืองหม้อ และต.แม่หลาย มีระดับน้ำท่วมขังประมาณ 10 - 30 ซม. แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้

จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ ขุนยวม แม่สะเรียง ปาย ปางมะผ้า แม่ลาน้อย สบเมย และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เกิดน้ำท่วมในเขตอำเภอสบปราบ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำวังไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและไร่นาได้รับความเสียหาย จำนวน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลนายาง หมู่ที่ 4 บ้านนายาง และตำบลสบปราบ หมู่ที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 13 และ14 จังหวัดเพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำล้นสันฝายศรีจันทร์ สูงประมาณ 3.70 ม.ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่ราษฎรและพื้นที่การเกษตรในเขตต.ห้วยไร่ และต.ตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก และพื้นที่บางส่วนของโครงการฝายฝั่งซ้ายแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวและยังมีน้ำท่วมขัง

จังหวัดสุโขทัย ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมตั้งแต่ อ.ศรีสัชนาลัย ยังคงมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 06.00 น. ของวันนี้(3 ส.ค.) ที่สถานี Y.14 วัดระดับน้ำได้ 11.60 ม. มีน้ำล้นตลิ่ง 17 ซม. และมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,416 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานได้ลดยอดน้ำที่จะไหลลงสู่ตอนล่างโดยให้ ปตร.หาดสะพานจันทร์ รับน้ำเข้า ปตร.หกบาทเข้าแม่น้ำยมสายเก่า 150 ลบ.ม./วินาที และรับเข้าคลองยม-น่าน 100 ลบ.ม./วินาที สถานี Y. 3A อ.สวรรคโลก มีระดับน้ำ 10.83 ม. มีน้ำล้นตลิ่ง 68 ซม. สถานี Y.33 อ.ศรีสำโรง ระดับน้ำ 11.10 ม. มีล้นตลิ่ง 1.54 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,148 ลบ.ม./วินาที โดยทั้ง 3 สถานีที่จะยังคงมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ คาดว่าจะสูงสุดในวันนี้ และจะยังคงเอ่อล้นตลิ่งต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สำหรับสถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 685 ลบ.ม./วินาที เมื่อเวลา 14.00 น. ไม่มีน้ำล้นตลิ่งเนื่องจากปริมาณน้ำตอนบนบ่าเข้าท่วมพื้นที่สองฝั่ง ทำให้น้ำไหลเข้าสู่จังหวัดสุโขทัยเต็มศักยภาพของลำน้ำเท่านั้น

จังหวัดอุตรดิตถ์ ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ที่อ.ตรอน มีอัตราสูงสุด 1,460 ลบ.ม./วินาที เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 2 ส.ค.54 และเริ่มลดลง ณ เวลา 06.00 น. วันนี้ มีอัตราการไหล 1,321 ลบ.ม./วินาที ยอดน้ำส่วนนี้ได้ไหลถึงเขื่อนนเรศวรเมื่อเวลา 06.00 วันนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนนเรศวร 1,043 ลบ.ม./วินาที และคาดว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่านเขื่อนนเรศวรในอัตราไม่เกิน 1,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งกรมชลประทานได้แจ้งเตือนจังหวัดพิษณุโลกให้ปิดท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนเข้าท่อระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ