นายธีระ วงศ์สมุทร รักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้กรมชลประทานได้รายงานปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อเวลา 06.00น. พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งต่ำกว่าเมื่อวานนี้ (7 สิงหาคม) ซึ่งมีปริมาณ 1,479 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และได้ลดระดับลงเหลือประมาณ 1,106 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (8 สิงหาคม 2554 เวลา 15.30 น.) ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าระดับน้ำเมื่อวานนี้ ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้รับผลกระทบลดน้อยลง โดยปริมาณน้ำที่ลดลงทุกๆ 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงประมาณ 25 เซนติเมตร
ทั้งนี้ มั่นใจว่าปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีคันกั้นตลิ่งที่สูงกว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำ จึงขอเตือนให้ประชาชนและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และจัดหากระสอบทรายและอุปกรณ์ป้องกันล่วงหน้าโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีคันกั้นตลิ่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทั่วไป ในภาคเหนือมีหลายจังหวัดที่ปริมาณน้ำลดลงเป็นปกติ เช่น จ.น่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน ส่วน จ.ลำปาง จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และจ.นครสวรรค์ ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ส่วนท้ายเขื่อนใน จ.นครสวรรค์ จ.อ่างทอง จ.อยุธยา ยังมีน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.สกลนคร จ.นครพนม และจ.อุดรธานี พื้นที่บางส่วนที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ โดยที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ จ.ตาก จุดที่แม่น้ำวังจะไหลมาบรรจบแม่น้ำปิง ใน อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้าให้การช่วยเหลือส่งเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรแล้ว ในส่วน จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากดีเปรสชั่นไหลหม่าจนมาถึงพายุนกเตน ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายอำเภอในขณะนี้ โดยเฉพาะในจุดที่แม่น้ำน่านและยมไหลมาบรรจบกัน จึงทำให้แม่น้ำยมไม่สามารถไหลออกมาได้ ทำให้พื้นที่ในลุ่มแม่น้ำยมน้ำยังคงเอ่อท่วมขังอยู่ ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ระดับน้ำจึงจะลดลง