นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งการบริหารจัดการน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งถือว่ายังค่อนข้างเป็นได้ช้า เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำในลุ่มน้ำน่านลดระดับลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลออกจากลุ่มน้ำยมลงไปยังลุ่มน้ำน่านเฉลี่ยเพียงวันละ 30 ล้านลบ.ม.เท่านั้น จึงยังมีปริมาณน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก
"เกรงว่าพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมอยู่เดิมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถิ์ ตากและนครสวรรค์ จะต้องประสบปัญหาน้ำท่วมลงมาซ้ำอีก"นายธีระ กล่าว
เนื่องจากกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำน่าน เพื่อพร่องน้ำลงเจ้าพระยาออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด เพื่อลดระดับน้ำออกก่อนที่ปริมาณฝนจะตกลงมาเพิ่ม จากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ประกออบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ทั่วประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมชลประทานประสานกับทางจังหวัดอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบถึงสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบนั้นในส่วนที่สามารถให้การช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วนนั้นสามารถใช้เงินทดรองราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทันที
ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และกรมส่งเสิรมการเกษตร ได้เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือไว้ล่วงหน้าเพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยได้อย่างทันทีไม่ว่าจะเป็นเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงแผนฟื้นฟูให้แก่เกษตรกรแพื่อสร้างรายได้โดยปลูกพืชระยะสั้นอีกด้วย
ส่วนการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายภายหลังจากน้ำลดนั้น ได้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบมีความแม่นยำในการตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นเกษตรกรที่รับความเสียหายจริง รวมถึงความถูกต้องของจำนวนพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายด้วย ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือนั้นจะไปเท่าไหร่อย่างไรนั้นทางกระทรวงเกษตรฯ จะเตรียมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันต่อสถานการณ์ต่อไป