ศอส.เตือนปชช.รับมือฝนตกหนักในจ.อุบลฯ-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษ-ตราด

ข่าวทั่วไป Tuesday August 23, 2011 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามคาดหมายลักษณะอากาศ พบว่า แม้ในภาพรวมประเทศไทยจะมีปริมาณฝนอยู่เกณฑ์ลดลง แต่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ขณะที่พื้นที่ ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราด ที่อำเภอเกาะช้าง อำเภอคลองใหญ่ จะยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องอีก 1 - 2 วัน จึงขอฝากเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของทั้ง 4 จังหวัด โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา เตรียมรับมืออันตรายที่อาจเกิดจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด แยกเป็น 4 จังหวัดภาคกลางในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุยา และ 5 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขาของลำน้ำโขง บริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ เนื่องจากการตรวจสอบปริมาณน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,200 — 2,400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 20 เซนติเมตร

ส่วนลุ่มน้ำโขงจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ถึงระดับวิกฤตที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงสุดช่วงวันที่ 24-25 สิงหาคม 2554 ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะน้ำล้นตลิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จึงฝากเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำของทั้ง 9 จังหวัดเตรียมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนอย่างเคร่งครัด

สำหรับพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังดินถล่ม มี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเทิง) พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอดอกคำใต้) น่าน (อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ้านหลวง อำเภอท่าวังผา) ลำปาง (อำเภอแม่ทะ อำเภอห้างฉัตร อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย) พิษณุโลก (อำเภอเนินมะปราง) เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า) ตราด (อำเภอเกาะช้าง อำเภอคลองใหญ่)

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขาของ 8 จังหวัด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย หากสังเกตพบสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ศอส. ได้ประสานเขื่อนสิริกิติ์ควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในอัตรา 650 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อมิให้ส่งผลกระทบมากขึ้นต่อพื้นที่น้ำท่วมบริเวณท้ายเขื่อน โดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ และพิษณุโลก พร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์รับบริจาค โดยมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาค รวมถึงสั่งการให้กรมการปกครองจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความต้องการของผู้ประสบภัยและการให้ความช่วยเหลือของอำเภอ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กรณีมีการนำเสนอข่าวข้อร้องเรียนความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่ใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมชี้แจงสื่อมวลชนในพื้นที่โดยด่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประสบภัยเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ