In Focus"เงินหยวน" กับเส้นทางรุกคืบสู่เวทีสากล ท่ามกลางวิกฤติโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 24, 2011 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และนับวันก็ยิ่งทวีความโดดเด่นมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อันเป็นผลจากปัญหาหนี้สินภาคสาธารณะ ซึ่งไม่เพียงแต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลง แต่ยังส่อเค้าที่จะลุกลามยืดเยื้อออกไปในวงกว้างมากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มีความแข็งแกร่งดังแต่ก่อน หลังจากเผชิญเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น แถมพ่วงมาด้วยวิกฤตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิชิ ที่เป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศที่พึ่งพาการส่งออก

เมื่อดอลลาร์เสื่อมมนต์ขลัง

แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐจะสามารถรอดพ้นจากภาวะผิดนัดชำระหนี้ด้วยการผ่านแผนเพิ่มเพดานหนี้สินและลดยอดขาดดุลได้แบบเฉียดฉิวกับกำหนดเส้นตายในวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายมองว่านั่นเป็นเพียงการซื้อเวลาสำหรับระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่สายชนวนพร้อมจะทำงานอยู่ตลอดเวลา และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ก็ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงจาก AAA เป็น AA+ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของสหรัฐมีอยู่จริง!

สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนดังกล่าวได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั่วโลกเริ่มกังขาว่าดอลลาร์จะยังคงเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยเช่นที่เคยเป็นมาอยู่หรือไม่ สกุลเงินทางเลือกอย่าง "เงินหยวน" จึงได้รับการพิจารณาจากนักลงทุนทั่วโลกว่าอาจก้าวขึ้นมามีอิทธิพลสำคัญมากขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และนั่นส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2554 เงินหยวนแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 17 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปจนถึงกลางปี 2556 เป็นอย่างน้อยที่สุด ประกอบกับการคาดการณ์ที่ว่าจีนจะปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อในประเทศ โดยหยวนแข็งค่าเกินกว่า 6.4 หยวน/ดอลลาร์

มุ่งมั่นวางรากฐานอย่างเป็นระบบ

เมื่อเศรษฐกิจของจีนแข็งแกร่งและมีการขยายตัวมากขึ้น สิ่งที่ทางการจีนต้องการเห็นคือบทบาทของเงินหยวนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และจีนได้มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการวางรากฐานและกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบเพื่อปูทางให้เงินหยวนก้าวขึ้นมามีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก เริ่มต้นด้วยการทำให้เงินหยวนมีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2552

สำหรับแนวทางการดำเนินการโดยหลักๆของจีนตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกและความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีดังนี้:-

การชำระบัญชีข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวน

จีนอนุญาตให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระบัญชีการซื้อขายข้ามพรมแดน เพื่อให้มีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติให้นครเซี่ยงไฮ้ และ 4 เมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้แก่ กวางโจว, เสิ่นเจิ้น, จูไห่ และตงกวน เป็นเขตทดลองนำร่องใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหักชำระบัญชีสินค้าระหว่างประเทศ หลังจากนั้นจึงได้ขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการจีนสามารถใช้เงินหยวนทำธุรกรรมการค้ากับผู้ประกอบการในฮ่องกง, มาเก๊า และ 6 ประเทศในอาเซียน ซึ่งได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์และเวียดนาม และจีนได้ขยายขอบเขตพื้นที่ของการชำระบัญชีสกุลเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปีนี้ธนาคารกลางจีนระบุว่าอยู่ระหว่างร่างมาตรการเพื่อขยายขอบเขตการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ แม้ว่าจะยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนก็ตาม

นักวิเคราะห์แสดงทัศนะว่า การใช้เงินหยวนทำการค้าระหว่างประเทศ นอกจากจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะปูทางยกระดับให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล

ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2553 มีการใช้เงินหยวนทำการค้าข้ามพรมแดนทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2552 ซึ่งฮ่องกงมีส่วนแบ่งสูงถึง 3 ใน 4 ของการทำธุรกรรมเงินหยวนทั้งหมด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการค้าโดยรวมของจีนแล้ว ธุรกรรมเงินหยวนมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 0.76 ของมูลค่าส่งออกและนำเข้าทั้งหมดของจีนเท่านั้น อย่างไรตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าบทบาทของเงินหยวนนั้นน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาตราสารหนี้สกุลเงินหยวน

แรกเริ่มนั้นจีนอนุญาตให้มีการออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนเพื่อระดมทุนระหว่างทางการจีนและธนาคารพาณิชย์ในฮ่องกงที่มีสาขาในจีนเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตให้บริษัทข้ามชาติสามารถออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในฮ่องกง หรือ “ติ่มซำบอนด์" โดยนับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จีนได้ใช้กรุยทางในการนำพาเงินหยวนสู่ความเป็นสากล ย้อนหลังไปเมื่อเดือนก.ย.2552 จีนได้ประเดิมขายพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินหยวนนอกประเทศ ซึ่งก็คือที่ฮ่องกง เป็นครั้งแรกมูลค่า 6 พันล้านหยวนหรือราว 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเสนออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงเทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ในเดือนก.พ.2554 จีนได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันใดๆก็ตามสามารถออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในฮ่องกงได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่นำเม็ดเงินที่ระดมได้จากขายพันธบัตรนั้นกลับไปยังประเทศจีน โดยติ่มซำบอนด์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จาก 1.6 หมื่นล้านหยวน ในปี 2552 พุ่งขึ้นเป็น 4.1 หมื่นล้านหยวน ในปี 2553 และในปี 2554 คาดว่าจะทวีความร้อนแรงขึ้นมากถึง 169% เป็น 1.08 แสนล้านหยวน หรือ 5 แสนล้านบาท

ในปัจจุบันนี้ มีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายรายที่ออกติ่มซำบอนด์ในฮ่องกง อาทิ แมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นบริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ขายตราสารหนี้สกุลเงินหยวน 200 ล้านหยวน เมื่อเดือน ก.ย. 2553 ซึ่งนับเป็นบริษัทต่างชาติในฮ่องกงรายแรกที่ประกาศขายตราสารหนี้สกุลเงินหยวน ตามด้วยแคทเทอร์พิลลาร์ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสหรัฐ ได้ออกตราสารหนี้ 1,000 ล้านหยวนในเดือน พ.ย. 2553 ขณะที่โฟล์คสวาเกน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของยุโรปในแง่ยอดขาย ได้ประกาศเมื่อกลางเดือน พ.ค. 2554 ว่าจะขายตราสารหนี้สกุลเงินหยวน 1,500 ล้านหยวน และแม้แต่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ อย่างธนาคารโลก ก็ประกาศแผนเมื่อต้นปีนี้ว่าตั้งเป้าจะระดมทุน 500 ล้านหยวน หรือ 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านทางการออกติ่มซำบอนด์

การออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินหยวนในฮ่องกงนี้จะช่วยยกระดับสถานภาพสกุลเงินหยวนในตลาดสากล และช่วยสร้างมาตรฐานราคาให้แก่การขายพันธบัตรสกุลเงินหยวนของสถาบันการเงินจีนในฮ่องกงอีกด้วย

นายจาง หยิง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแบงก์ ออฟ ไชน่า ในฮ่องกง กล่าวว่า จุดเด่นของการลงทุนในพันธบัตรก็คือ รายได้ที่มั่นคงและปัจจัยด้านความปลอดภัยที่สูงกว่า ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของตลาด นอกจากนี้ การออกพันธบัตรจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนในฮ่องกง โดยเฉพาะธนาคารที่มีกองทุนเงินหยวนจำนวนมาก

การพัฒนาศูนย์กลางทางการเงินสำหรับการซื้อขายเงินหยวน

แนวทางนี้นับว่ามีความเกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีการค้าและการส่งเสริมการพัฒนาตราสารหนี้สกุลเงินหยวนชนิดที่แยกกันไม่ออก หลังจากที่จีนอนุญาตให้มีการชำระบัญชีการค้าเป็นสกุลเงินหยวนได้ตั้งแต่ปี 2552 นั้น ฮ่องกงนับเป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวในการทำธุรกรรมสกุลเงินหยวนนอกประเทศจีน หรือตลาดออฟชอร์ และการที่จีนส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเงินหยวนในตลาดต่างประเทศหรือ CNH นั้นก็ส่งผลให้มีการออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนหรือติ่มซำบอนด์จำนวนมากด้วย

ในอนาคตเมื่อการทำธุรกรรมสกุลเงินหยวนขยายวงกว้างขึ้น จีนอาจมีการขยายศูนย์กลางการซื้อขายเงินหยวนนอกประเทศไปยังประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์หรือแม้แต่ในลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกอยู่แล้ว โดยทางสิงคโปร์เองก็ดูเหมือนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเงินหยวนในต่างประเทศรายต่อไป รองจากฮ่องกง ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยที่ช่วยหนุนความได้เปรียบของสิงคโปร์คือความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีน ซึ่งทำให้สิงคโปร์มีภาษีดีกว่าเมื่อเทียบกับศูนย์กลางการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอนหรือนิวยอร์ค ซึ่งเริ่มเล็งเห็นความสนใจของกลุ่มนักลงทุนในการซื้อขายเงินหยวน

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนส.ค.นี้ ธนาคารกลางไต้หวันได้ประกาศเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการทำธุรกรรมสกุลเงินหยวนนอกประเทศแห่งที่ 2 โดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและไต้หวันที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยนับแต่ประธานาธิบดีหม่า อิง-จิวของไต้หวันขึ้นบริหารประเทศในปี 2551 ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและไต้หวันนับว่าดีที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

เดินหน้าพลิกวิกฤติสู่โอกาส

การดำเนินการตามแนวทางต่างๆที่จีนได้วางแผนไว้นับเป็นขั้นตอนที่จีนได้คิดพิจารณามาแล้วอย่างรอบรอบตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ ช่วงหัดเดิน ไปจนถึงช่วงที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลกเผชิญพิษเศรษฐกิจรุมเร้าชนิดที่ยังสางไม่ออก จีนจึงไม่รอช้าที่จะเร่งเดินหน้าสานต่อในสิ่งที่ได้วางรากฐานไว้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายหลี่ เคอเฉียง รองนายกรัฐมนตรีจีน ได้เดินทางเยือนฮ่องกงในระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งรวมถึงนายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนและนายเฉิน เต๋อหมิง รมว.พาณิชย์จีน การเดินทางดังกล่าว ได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้นก็คือการประกาศมาตรการใหม่ๆเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดฮ่องกง ซึ่งรวมถึงการประกาศขายพันธบัตรสกุลเงินหยวนในฮ่องกง หรือติ่มซำบอนด์เป็นครั้งที่ 3 และนับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ในวงเงิน 2 หมื่นล้านหยวน (3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นในการจองซื้อจากนักลงทุนสถาบัน หลังจากที่เคยออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนในฮ่องกงเป็นครั้งแรกในวงเงิน 6 พันล้านหยวนเมื่อปี 2552 และครั้งที่ 2 ในวงเงิน 8 พันล้านหยวนเมื่อปีที่แล้ว

นายหลี่กล่าวว่า การออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนในฮ่องกงจะเป็นภารกิจในระยะยาวของรัฐบาลกลาง โดยรัฐบาลจะค่อยๆปรับเพิ่มขนาดของการออกพันธบัตร และจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงตลาดพันธบัตรเงินหยวนในฮ่องกง ซึ่งนับเป็นการยืนยันถึงสถานภาพของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและศูนย์กลางการทำธุรกรรมสกุลเงินหยวน

นอกจากนี้ นายหลี่เขายังกล่าวว่า จะมีเปิดตัวโครงการนำร่องสำหรับธนาคารต่างชาติในการเพิ่มทุนด้วยเงินหยวน และวิสาหกิจของฮ่องกงจะได้รับการสนับสนุนให้ลงทุนโดยตรงในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเงินหยวน สำหรับนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมก็จะได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยวงเงินขั้นต้น 2 หมื่นล้านหยวน (3.1 พันล้านดอลลาร์)

นายเหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวว่า การออกพันธบัตรครั้งนี้จะช่วยขยายตลาดพันธบัตรเงินหยวนในฮ่องกงให้กว้างขึ้นได้อย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาจากมูลค่าที่มากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การออกพันธบัตรเงินหยวนเมื่อปี 2553 และ 2552 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38% และ 22% ของมูลค่าพันธบัตรเงินหยวนทั้งหมดที่ออกในแต่ละปี ซึ่งการออกพันธบัตรครั้งล่าสุดนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาด

โจทย์ท้าทายที่รอการไขปม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนได้ดำเนินนโยบายต่างๆย่างเป็นรูปธรรมในการทำให้เงินหยวนก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเงินและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่ใช่นโยบายการเปิดเสรีเงินหยวน ซึ่งจะส่งผลให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ซื้อขายกันโดยปราศจากข้อจำกัด เพราะถึงจีนจะอนุญาตให้มีการซื้อขายเงินหยวนอย่างเสรีมากขึ้นในฮ่องกง แต่เงินทุนต่างประเทศที่จะไหลเข้าออกจีนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ จีนมีข้อจำกัดสำหรับการทำธุรกิจของธนาคารต่างชาติในจีน ทั้งการตั้งสาขาและการให้บริการต่างๆ ที่ต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน ซึ่งทำให้ธนาคารต่างชาติเผชิญอุปสรรคมากมายและเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับธนาคารท้องถิ่นจีน ทั้งๆที่จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกมาตั้งแต่ปี 2544 และมีการตกลงเปิดเสรีด้านการเงินและการธนาคารแล้วก็ตาม ในปัจจุบันนี้ จีนได้อาศัยฮ่องกงเป็นสถานที่ทดสอบสำหรับการผ่อนคลายการควบคุมทางการเงินอย่างระมัดระวัง

การที่หน่วยงานต่างๆของจีนยังคงควบคุมตลาดการเงิน เช่น ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประทศค่อนข้างมาก หมายความว่าจีนยังไม่ได้เปิดเสรีบัญชีทุน แต่มีการเปิดเสรีเฉพาะบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น เงินทุนจากต่างประเทศจึงยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าและออกจากจีนได้อย่างเสรีเหมือนประเทศอื่นๆที่มีการเปิดเสรีบัญชีทุนแล้ว และการเปิดเสรีบัญชีทุนนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเป็นสกุลเงินสำรองของโลก นั่นทำให้แนวคิดในการทำให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในเงินสกุลสำรองที่สำคัญของโลก ถึงขนาดที่เทียบรุ่นขึ้นมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับจีนในขณะนี้

แม้มีสัญญาณเริ่มต้นที่ดีสำหรับเงินหยวนในระบบการค้าระหว่างประเทศ โดยเงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมในตลาดการเงินมากขึ้น แต่การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของจีนยังคงคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนทำให้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในที่เงินหยวนจะได้รับการยอมรับในวงกว้าง เนื่องจากการเคลื่อนไหวของเงินหยวนไม่เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างที่ควรจะเป็น

โจทย์สำคัญและไม่ง่ายนักที่จีนต้องขบคิดก็คือ จีนจะกล้าปล่อยให้เงินหยวนมีการปรับตัวตามแรงผลักดันของตลาดและอนุญาตให้มีการเปิดเสรีบัญชีทุนหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันเงินหยวนสู่เวทีโลก เพราะหากจีนกล้าเสี่ยงเช่นนั้น จีนก็ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขั้นนั้นก็คือเงินทุนที่ไหลเข้าออกจีนอาจจะผันผวนตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน อันจะนำมาซึ่งความเปราะบางและความอ่อนไหวของเศรษฐกิจจีนต่อปัจจัยต่างๆในตลาดโลก และทำให้จีนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ยากขึ้น แต่ก็มีประโยชน์ที่จีนจะได้รับ ถ้าเงินหยวนเป็นสกุลเงินสำรองของโลก ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการที่จีนต้องถือครองทุนสำรองในรูปของสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ โดยจะลดความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ขณะเดียวกันสถานภาพและอิทธิพลของจีนในระบบเศรษฐกิจโลกก็จะได้รับการยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง... และทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่จีนต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญ แต่ท้ายที่สุดจีนก็คงเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้อง “เลือก" หรือยอม “แลก"!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ