รมว.สาธารณสุข(สธ.) สนับสนุนให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมมือกันศึกษาวิจัยสรรพคุณสมุนไพร"หมามุ่ย"ให้เป็นยาสมัยใหม่เพื่อรักษาโรคพาร์กินสันและภาวะมีบุตรยาก พร้อมผลักดันสมุนไพรไทยพื้นบ้านขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมยาไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจโลก
"จะให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์และทางคลินิก เพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อาจทำเป็น 2 รูปแบบคือยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มั่นใจว่าพืชหมามุ่ยนี้จะเป็นข่าวดีของคนทั่วโลกที่มีปัญหา 2 เรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดเศรษฐกิจยาไทยเชิงอุตสาหกรรม จะเร่งศึกษาให้เร็วที่สุด" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า กระทรวงฯ สนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีสมุนไพรถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วเกือบ 100 รายการ มูลค่าการใช้ในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปีละกว่า 300 ล้านบาท และมีนโยบายพัฒนายาสมุนไพรไทยที่มีนับหมื่นชนิด เพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงร่างกาย
ล่าสุดมีข้อมูลวิจัยจากประเทศอินเดียพบว่า หมามุ่ยซึ่งเป็นพืชเถาพบมากในประเทศไทย มีสารที่สามารถใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ที่เป็นโรคที่มีความเสื่อมของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว ทั่วโลกพบผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1 หรือ 60 ล้านคน ส่วนคนไทยพบประมาณ 5-6 ล้านคน พบมากในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังมีผลกระตุ้นการสร้างน้ำอสุจิใช้รักษาภาวะมีบุตรยากจากปัญหาความผิดปกติของการผลิตน้ำอสุจิในผู้ชาย ซึ่งขณะนี้มีครอบครัวไทยจำนวนมากที่ประสบปัญหามีบุตรยาก ที่พบได้ประมาณร้อยละ 15 ของครอบครัวไทย และต้องพึ่งการแพทย์สมัยใหม่ที่ค่าใช้จ่ายสูงมาก
ที่ผ่านมา ตำราโบราณมีหมอพื้นบ้านไทยใช้เมล็ดหมามุ่ย ใช้รักษาภาวะมีบุตรยากใน 2 ลักษณะคือ นำมาคั่ว บดคล้ายๆชาชง กินวันละ 5 กรัมหรือประมาณ 25 เมล็ด วันละ 1 ครั้งติดต่อกันนาน 3 เดือน และนึ่งเมล็ดหมามุ่ย 5 เมล็ดพร้อมกับข้าวเหนียว กินวันละ 3 ครั้ง เห็นผลภายใน 7 วัน