นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่านของ 19 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา สุราษฎรานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ และอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้ ศอส. ได้สั่งกำชับให้ทั้ง 19 จังหวัดในพื้นที่ เสี่ยงภัยดังกล่าวเข้มงวดในการปฏิบัติการเฝ้าระวัง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยความรวดเร็วและทันท่วงที
นอกจากนี้ ศอส. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม โดยปรับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ของจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นศูนย์บูรณาการที่เน้นการทำงานในรูปแบบ One Stop Service ทั้งการทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์สั่งการ และศูนย์ประสานแจ้งข้อมูล ซึ่งมีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน อีกทั้ง ศอส. ได้สั่งการให้กรมการปกครองเป็นเจ้าภาพ ในการสำรวจความต้องการของจังหวัดที่ประสบภัยในส่วนที่เกินกำลังของพื้นที่และที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ รวมถึงรวบรวมผลการปฏิบัติงาน ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยของจังหวัด จะได้นำข้อมูลไปวางแผนและแก้ไขได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดที่ประสบ น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ประสานสาธารณสุขจังหวัดจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการสุขภาพจิต และสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงเฝ้าระวังโรคระบาดในช่วงน้ำท่วม โดยเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษาและสุขอนามัยแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อมิให้โรคภัยไข้เจ็บไปสร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับผู้ประสบภัย
นายชนม์ชื่น กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 13 จังหวัด รวม 57 อำเภอ 366 ตำบล 2,116 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 196,869 ครัวเรือน 592,070 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้สูญหาย 1 คน
พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,347,204 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2.06 ล้านตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคมเสียหาย ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 10 สาย ใน 7 จังหวัด ดังนี้ สุโขทัย 2 สาย พิจิตร 2 สาย น่าน 2 สาย เชียงใหม่ 1 สาย พิษณุโลก 1 สาย พังงา 1 สาย ภูเก็ต 1 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 13 สาย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 3 สาย นครสวรรค์ 2 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 2 สาย ระยอง 1 สาย สถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 50 แห่ง บ่อน้ำบาดาลเสียหาย 8,299 บ่อ
สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
ขณะที่ภาวะน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับทรงตัว ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำป่าสัก ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่คลองบางหลวง คลองบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ส่วนพื้นที่ที่ภาวะน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงลุ่มน้ำโขง ขณะที่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำสงคราม แม่น้ำก่ำ ห้วยโมง และห้วยหลวง