กรมชลฯเผยเจ้าพระยาตอนล่างน้ำยังสูงขึ้น,ศอส.เตือน 9 จ.ระวังท่วมฉับพลัน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2011 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมการป้องกันล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัย และป้องกันน้ำไหลเข้าที่พักอาศัย รวมถึงพื้นที่การเกษตร ด้วยการเสริมกระสอบทรายป้องกันตลิ่งในบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเคลื่อนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง ยานพาหนะ และทรัพย์สินขึ้นสู่ที่สูง พร้อมทั้งขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว

นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน คาดว่าปริมาณน้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์จะสูงถึง 2,700 - 2,900 ลูกบาศ์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 3 - 5 ก.ย.นี้ พร้อมได้แจ้งเตือนเกษตกรให้รีบเก็บกเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตพื้นที่ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เนื่องจากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีฝนตกชุกกระจายในพื้นที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำ ส่งผลให้ยังคงมีน้ำเหนือไหลหลากลงมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในระยะ 2 — 3 วันนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ประมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 50 - 70 เซนติเมตร

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่านของ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย เลย อุดรธานี และหนองคาย ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ โดยเตรียมพร้อมรับมือและ หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ 4 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่ง เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระดับน้ำเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดในพื้นที่ประสบภัยเร่งสำรวจความต้องการน้ำดื่มสะอาดของ ประชาชนในพื้นที่ หากไม่เพียงพอให้แจ้ง ศอส. เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป รวมถึงสนับสนุนข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้เกษตรจังหวัด เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษรตรเพิ่มเติมจากที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำ เช่น โรคตาแดง โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคอุจจาระร่วง โรคมือเท้าปากเปื่อย โดยเฉพาะในจังหวัดที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน พร้อมสำรองวัสดุและเคมีภัณฑ์สำหรับฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนแก่จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ