นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการยกระดับราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อตัน เพื่อรักษาสัญญาทางการเมืองที่ประกาศไว้ รัฐบาลควรมีแนวทางชัดเจนในการบริหารจัดการสต็อกข้าวที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพราะจะเป็นการสร้างภาระการคลังให้กับประเทศ รวมถึงสัดส่วนการระบายข้าวออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย
เพราะการรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูง แล้วเก็บเข้าสต็อก จะส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อข้าวสารบริโภคในราคาแพง แต่หากไม่เก็บสต็อกและมีการระบายข้าวออกมามาก ราคาข้าวในตลาดก็จะลดลง และรัฐจะต้องขาดทุนเพิ่มขึ้นจากการส่งออก ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องวางกรอบในเรื่องของปริมาณรับจำนำ การสต็อกและการระบายข้าวให้ครอบคลุมต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่คิดปีต่อปี เพราะรัฐบาลไม่สามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกให้เป็นไปตามนโยบายของตนเองได้
" นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ต่างจากนโยบายในยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พูดแล้วทำ เวลานี้ผมเห็นนักการเมืองกำลังหันซ้ายหันขวาในการแก้ปัญหานโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน และโม้ไปวันๆ จึงอยากตั้งฉายารัฐบาลนี้ดีแต่โม้"นายอัมมาร กล่าว
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่า การรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูง จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดข้าวไทย เนื่องจากชาวนาจะหันมาผลิตข้าวอายุสั้น เพื่อจะได้นำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำปีละหลายครั้ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และโรงสีที่อยู่ในโครงการรับจำนำจะได้กำไร โดยไม่ได้ใช้ฝีมือในการค้า เพราะรับจ้างรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ตลาดกลางค้าข้าวสูญพันธุ์กลายสภาพมาเป็นโรงสี ทำให้โรงสีมีกำลังการผลิตส่วนเกินกว่า 60 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวตลอดปีมีเพียง 30 ล้านตัน
ทั้งนี้ หากชาวนาผลิตข้าวคุณภาพต่ำขายให้รัฐบาลด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ซื้อต่างประเทศจะไม่ยอมซื้อข้าวคุณภาพต่ำในราคาสูง เพราะคู่แข่งมีคุณภาพข้าวดีขึ้น แต่ราคาต่ำกว่าไทย ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด