กรมชลฯ คาดระดับน้ำเจ้าพระยาสูงต่อเนื่องถึงกลางก.ย./ศอส.เตือน 4 จ.ระวังสถานการณ์

ข่าวทั่วไป Tuesday September 6, 2011 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน คาดว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์สูงสุดระหว่าง 3,300 — 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นับจากวันนี้ไปจนถึงกลางเดือนกันยายนนี้ จากเกิดฝนตกหนักกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ในช่วงวันที่ 1 — 4 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา กรอปกับมีปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจำนวนมากเอ่อล้นอ้อมลงสู่แม่น้ำน่านที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปเป็น 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นับจากเมื่อวานนี้(5 ก.ย.) ไปจนถึงกลางเดือนกันยายน ระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันวันละ 10 - 15 เซนติเมตร โดยประมาณ ต่อเนื่องกันไปอีกหลายวัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เวลา 06.00 น. (6 ก.ย. 54) ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,055 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 32 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 68 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 2,438 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 48 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน อยู่ในระดับน้ำตลิ่ง(ระดับตลิ่ง 17 เมตร) ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 0.84 เมตร

สำหรับจังหวัดสิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,361 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 29 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5 เซนติเมตร จังหวัดอ่างทอง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,281 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 29 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 95 เซนติเมตร

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,129 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 11 เซนติเมตร ส่วนที่คลองบางหลวง(คลองโผงเผง) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 857 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.99 เมตร คลองบางบาล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 273 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.21 เซนติเมตร และที่อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,626 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 17 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.48 เมตร

ด้านนายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัด รวม 50 อำเภอ 343 ตำบล 2,038 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 122,485 ครัวเรือน 393,808 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี สิงห์บุรี และนครปฐม ผู้เสียชีวิต 66 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,530,969 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ที่คาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 67,562 ไร่ กุ้ง หอย ปู 2,242 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,291,732 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 4 สาย ใน 2 จังหวัด ทางหลวงชนบท 27 สาย ใน 10 จังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีปริมาณน้ำมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

นายภานุ กล่าวว่า ระยะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ต้องระบายน้ำเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงกลางเดือนกันยายน 2554 โดยระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นวันละ 10 — 15 ซม. ต่อวัน จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 10 — 15 กันยายน 2554 ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง หากมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว อาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนเสริมแนวคันกั้นน้ำ พร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

ทั้งนี้ ศอส.ได้กำชับให้ทุกจังหวัดตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้นให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับน้ำได้ หากอยู่ในสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงให้เร่งทำการระบายน้ำออก และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนแจ้งจังหวัดที่ประสบอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อปพร. และอาสาสมัครอื่นๆ อำนวยความสะดวกด้านการจราจรและดูแลด้านความปลอดภัยของผู้ประสบภัยที่อาศัยริมถนนเป็นที่พักชั่วคราว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ