กรมชลฯ เผยบางพื้นที่ในสิงห์บุรี-อ่างทอง-อยุธยา อาจรับผลจากการปล่อยน้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2011 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์และแนวโน้มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เนื่องจากในช่วงวันที่ 4 — 6 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน กอปรกับปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจำนวนมาก ได้ไหลเอ่อล้นอ้อมลงสู่แม่น้ำน่านที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปริมาณน้ำจะอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 3,300 — 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปจนถึงกลางเดือนกันยายนนี้ จากสภาพดังกล่าว ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น โดยการใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออก จำนวน 279 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตก จำนวน 406 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่รับเข้าไปจะไหลผ่านคลองต่างๆ ลงสู่ทะเลต่อไป

จากการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทานดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา คงเหลืออยู่เพียง 2,620 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ บริเวณตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภอเมือง อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมือง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในส่วนของการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 370 เครื่อง (ทั้งประเทศส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือแล้ว จำนวน 838 เครื่อง) ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หากมีฝนตกในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จะได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมกับแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในทุกระยะต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เวลา 06.00 น. (8 ก.ย. 54) ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 60 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 2,620 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน อยู่ในระดับตลิ่ง(ระดับตลิ่ง 17 เมตร) ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 44 เซนติเมตร

สำหรับจังหวัดสิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,495 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 37 เซนติเมตร จังหวัดอ่างทอง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,382 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 54 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 65 เซนติเมตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,148 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 14 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3 เซนติเมตร ส่วนที่คลองบางหลวง(คลองโผงเผง) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 893 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 21 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.11 เมตร คลองบางบาล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 302 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 13 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.33 เซนติเมตร และที่อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.49 เมตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ