นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ในภาคเหนือจำนวนมาก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสม
"กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาน้ำล้นเขื่อน โดยจะดำเนินการอย่างรอบคอบร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนน้อยที่สุด" นายกิตติ กล่าว
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ไหหม่า" และพายุโซนร้อน "นกเตน" ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.จนถึงกลางเดือน ก.ค.54 ตลอดจนร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดเดือน ส.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ก.ย.54 ส่งผลให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลในปริมาณมาก
โดยเขื่อนสิริกิติ์มีระดับน้ำสูงถึง 159.8 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง(เมตร รทก.) จากระดับน้ำที่รองรับได้ 162 เมตร รทก. คิดเป็นปริมาณน้ำในอ่างทั้งหมด 8,950 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 94.11 % ของความจุอ่าง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 2,700 ล้าน ลบ.ม. และสามารถรองรับน้ำได้อีกเพียง 560 ล้าน ลบ.ม.จึงมีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นเขื่อนได้หากไม่มีการระบายน้ำออกในปริมาณที่เหมาะสม
ล่าสุดยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 88.57 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่การระบายออกได้ลดเหลือเพียง 65 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ และจะคงการระบายในระดับดังกล่าวไว้จนกว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจะมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่น้ำจะล้นเขื่อน
ส่วนเขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำสูงถึง 251.30 เมตร รทก.จากระดับน้ำที่รองรับได้ 260 เมตร รทก. คิดเป็นปริมาณน้ำในอ่างทั้งหมด 10,864 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80.7% ของความจุอ่าง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,506 ล้าน ลบ.ม. และสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,598 ล้าน ลบ.ม. จึงมีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นเขื่อนได้เช่นกัน หากไม่มีการระบายน้ำออกในปริมาณที่เหมาะสม แม้จะสามารถรองรับน้ำได้อีกมากก็ตาม เนื่องจากช่วงนี้เป็นเพียงช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น
ล่าสุดยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลประมาณ 84.19 ล้าน ลบ.ม./วัน และตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา จะคงการระบายในระดับ 30 ล้าน ลบ.ม./วัน ไว้จนกว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดย กฟผ.จะประสานกับกรมชลประทาน เพื่อให้การระบายน้ำมีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด
นายกิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของทั้งเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลเป็นจำนวนมาก และอาจไหลเข้าอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายวัน โดยเขื่อนสิริกิติ์มีโอกาสที่ปริมาณน้ำไหลเข้าได้ตลอดเดือน ก.ย.นี้ ส่วนเขื่อนภูมิพลมีโอกาสที่จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากจนถึงเดือน พ.ย. ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่เหลือนี้คาดการณ์ได้ค่อนข้างยากว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอีกมากน้อยเพียงใด