รมว.สาธารณสุข(สธ.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกันและควบคุมการลักลอบนำยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrin) ไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด โดยเตรียมออกประกาศเพิ่มระดับการควบคุมยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรให้เป็นยาควบคุมพิเศษ และเตรียมเผาทำลายยาเสพติดครั้งใหญ่ล็อตที่ 2 ของปีนี้ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
"กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งควบคุมยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดอย่างเข้มข้นขึ้น โดยการลดโควตาวัตถุดิบซูโดอีเฟดรีนในบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ และเตรียมออกประกาศเพิ่มระดับการควบคุมยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตร ทุกรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้มข้นขึ้น ให้เป็นยาควบคุมพิเศษที่จำกัดการจำหน่าย โดยให้จำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา โดยจะลงนามและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขเข้มงวดการควบคุมสารตั้งต้นคือซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาแก้หวัด ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก แต่มีการลักลอบนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าในแหล่งผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการตัดวงจรการผลิต ตั้งแต่ปี 2551-สิงหาคม 2554 หน่วยปราบปรามยาเสพติดได้จับกุมยาเม็ดยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนได้ 44.49 ล้านเม็ด โดยเป็นยานำเข้าจากเกาหลี 34.5 ล้านเม็ด มาเลเซีย 1.9 ล้านเม็ด สิงคโปร์ 0.29 ล้านเม็ด และยาผลิตในประเทศไทย 7.8 ล้านเม็ด
สำหรับยาที่ผลิตในประเทศไทยที่จับกุมได้ในช่วงปีแรก เส้นทางส่วนใหญ่รั่วไหลมาจากร้านขายยา โดยมีการกว้านซื้อจากร้านขายยาหลายๆแห่ง รวบรวมส่งไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดตามแนวชายแดน แต่ในระยะหลังๆ เริ่มพบการรั่วไหลจากแหล่งใหญ่ เช่น บริษัทยา คลินิกเวชกรรม โรงพยาบาลชุมชน และร้านขายยา และในวันที่ 17 ก.ย.นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเผาทำลายยาเสพติดล็อตที่ 2 ของปีนี้ ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ยาแก้ไข้หวัดที่จะอนุญาตให้ใช้และขายในร้านขายยาได้คือตำรับที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนผสมเท่านั้น ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการป้องกันการลักลอบนำยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนไปใช้ผลิตยาเสพติดมาโดยตลอด โดยตรวจสอบการใช้วัตถุดิบ และการกระจายของยาทั้งสูตรเดี่ยวและสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนอย่างเข้มงวด ระงับการขายวัตถุดิบให้ผู้ผลิตที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีมาตรการตัดโควตาวัตถุดิบกรณีพบของกลาง ขอความร่วมมือร้านขายยาให้ขายให้ประชาชนครั้งละไม่เกิน 60 เม็ด และออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ให้ขายได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเดือนละไม่เกิน 5,000 เม็ด ห้ามจำหน่ายในคลินิกและร้านขายยา แต่ก็ยังพบการลักลอบทำผิดอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมเข้มงวดมากขึ้น