ศอส.เผยน้ำท่วมขยายวง 30 จว.มีผู้เสียชีวิตแล้ว 91 ราย สูญหายอีก 2 คน

ข่าวทั่วไป Thursday September 15, 2011 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศอส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี ยโสธร เลย ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก จันทบุรี ตราด ตาก สระแก้ว ปราจีนบุรี ตรัง สตูล และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ส่งผลให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 339,601 ครัวเรือน 1,204,358 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 91 ราย สูญหายอีก 2 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 4,043,993 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบ่อปลาเสียหาย 67,618 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอยเสียหาย 2,284 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 3,042,185 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 17 สาย ใน 8 จังหวัด ทางหลวงชนบท 47 สาย ใน 9 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์น้ำในทุกลุ่มน้ำยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งอยู่แล้วระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,568 ลบ.ม./วินาที และผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,432 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 86% เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 95% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำมากเกินความจุ 102% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 95% จึงต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อพร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน เตรียมตัวขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ขณะที่กรุงเทพฯ ยังคงมีน้ำท่วมในเขตพื้นที่ตามชุมชนริมคลองที่มีระดับต่ำ

นายวิเชียร กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางพื้นที่ภาคเหนือบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพลส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำปิง และลำน้ำสาขาในเขตจังหวัดกำแพงเพชรมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 3,800-3,900 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 18-19 กันยายน 2554 ซึ่งทำให้ระดับน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร

นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดในเกณฑ์ประมาณ 3,900 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2554 ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10-15 เซนติเมตรต่อเนื่องหลายวัน โดยจะมีระดับน้ำสูงใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ผ่านมา จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับปี พ.ศ.2553 รวมทั้งให้ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ศอส.ได้ประสานให้ทั้ง 8 จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกระยะ พร้อมเร่งจัดกระสอบทรายเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง พร้อมทั้งกำชับให้จังหวัดประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และชลประทานจังหวัด ตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ และเขื่อนต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องพร่องน้ำหรือระบายน้ำออก ให้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า จะได้ขนย้ายสิ่งของและอพยพหนีภัยได้ทัน

ส่วนการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย เพื่อจ่ายเงินครัวเรือนละ 5,000 บาท ขอให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจข้อมูล โดยประสานการปฏิบัติกับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ซึ่งขณะนี้ได้ลงพื้นที่สนับสนุนการจัดทำและตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนร่วมกับจังหวัดในทุกพื้นที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ