นายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางพื้นที่ภาคเหนือบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพลเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน ลุ่มน้ำปิงและลำน้ำสาขาในเขตจังหวัดกำแพงเพชร มีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์จะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 3,800 — 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 18 — 19 กันยายน 2554 ซึ่งทำให้ระดับน้ำ ที่จังหวัดนครสวรรค์สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร
นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด ในเกณฑ์ประมาณ 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในช่วงวันที่ 19 — 20 กันยายน 2554 ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 — 15 เซนติเมตรต่อเนื่องหลายวัน โดยจะมีระดับน้ำสูงใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ผ่านมา
จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับปี พ.ศ. 2553 รวมทั้งให้ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ได้ประสานให้ทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกระยะ พร้อมเร่งจัดกระสอบทรายเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง
ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพนังกั้นน้ำและแนวกระสอบทรายกั้นน้ำจุดอื่นๆในพื้นที่ พร้อมเสริมโครงสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นและกระแสน้ำที่ไหลแรง อาจทำให้พนังกั้นน้ำและแนวกระสอบทรายกั้นน้ำพังเสียหาย รวมทั้งให้จังหวัดประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและชลประทานจังหวัดตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญและเขื่อนต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องพร่องน้ำขอให้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า เพื่อจะได้ขนย้ายสิ่งของและอพยพหนีภัยได้ทัน
ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 29 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี ยโสธร เลย ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก ตราด ตาก สระแก้ว ปราจีนบุรี ตรัง สตูล และสุราษฎร์ธานี รวม 162 อำเภอ 1,021 ตำบล 5,449 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 333,073 ครัวเรือน 1,148,250 คน ผู้เสียชีวิต 98 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 4,809,302 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 54,852 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 560 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 3,954,046 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 22 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 50 สาย ใน 20 จังหวัด