ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ทำการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของเยาวชนเรื่อง “โอกาสและที่ยืนของเยาวชนในสังคมไทย" พบว่า เรื่องที่เยาวชนไทยถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดในปัจจุบันคือ ปัญหายาเสพติดและการมั่วสุม ร้อยละ 30.8 รองลงมาคือปัญหาเรื่องเพศ (การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ถูกข่มขืน ถูกถ่ายคลิป) ร้อยละ 29.4 และปัญหาการถูกปิดกั้นทางความคิด การไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในสังคมร้อยละ 14.5 เมื่อจำแนกข้อมูลตามเพศ พบว่า เยาวชนชายถูกละเมิดสิทธิเรื่องปัญหายาเสพติดและการมั่วสุมมากที่สุด (ร้อยละ 34.5) ขณะที่เยาวชนหญิงถูกละเมิดสิทธิเรื่องเพศมากที่สุด (ร้อยละ 36.5)
สำหรับการเปิดโอกาสของสังคมเพื่อให้เยาวชนได้แสดงออกและแสดงความสามารถในเรื่องต่างๆ พบว่า เยาวชนร้อยละ 52.0 ระบุว่า ปัจจุบันสังคมให้โอกาสตัวเยาวชนเองและเพื่อนเยาวชนคนอื่นๆ ได้แสดงออกและแสดงความสามารถในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 48.0 ระบุว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
โดยเยาวชน ร้อยละ 58.7 ระบุว่า ตนเองได้รับโอกาสและความสำคัญจากรัฐบาลและผู้บริหารประเทศ ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 89.6 ระบุว่าได้รับโอกาสและความสำคัญในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นจากครอบครัวมากถึงมากที่สุด
ส่วนเรื่องที่เยาวชนอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้แสดงออกและรับฟังความคิดเห็นมากที่สุด คือ เรื่องของปัญหาเยาวชน(เช่น ปัญหายาเสพติด เด็กแว้น วัยรุ่นตีกัน เด็กกำพร้า) ร้อยละ 29.1 รองลงมาคือ เรื่องการศึกษาร้อยละ 24.3 และเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 12.2
ทั้งนี้ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากเยาวชนอายุ 15 -25 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก จำนวนทั้งสิ้น 27 เขต ได้แก่ คลองเตย คลองสาน จตุจักร จอมทอง ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางเขน บางขุนเทียน บางคอแหลม บางนา บางบอน บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ พญาไท พระโขนง ยานนาวา ราชเทวี วังทองหลาง วัฒนา สวนหลวง หนองแขมและหลักสี่ และปริมณฑล 3จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนน และประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,171 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.5 และเพศหญิงร้อยละ 50.5