สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สอบถามความคิดเห็นจากครูและผู้ปกครอง (เฉพาะครูที่สอนหรือผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในชั้น ป.1) และประชาชนทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 809 คน (ครู 190 คน 23.49% ผู้ปกครอง 202 คน 24.97% และประชาชนทั่วไป 417 คน 51.54%) ระหว่างวันที่ 2-12 กันยายน 2554 เกี่ยวกับนโยบาย One Tablet Pc Per Child ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ร้อยละ 80.22 เห็นว่าแท็บเล็ตจะส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่าน ฝึกฝนการอ่านให้กับเด็กได้ นอกจากการอ่านในหนังสือ สืบค้นหาข้อมูลการศึกษาได้ง่าย ฯลฯ แต่ด้านลบคือทำให้เด็กสนใจการเรียนน้อยลง หันไปสนใจเกมหรือเมนูอื่นๆ แทน มีผลต่อพัฒนาการของเด็กทักษะการพูด อ่าน เขียน ฯลฯ
ด้านข้อดีพบว่า ร้อยละ 47.74 สามารถศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดเวลา ร้อยละ 32.44 เป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการศึกษา ความเห็นต่อข้อเสียพบว่า ร้อยละ 42.93 เห็นว่าอาจใช้งานผิดประเภท เนื่องจากมีเมนูต่างๆ ให้เล่นมากมายทำให้เด็กสนใจที่จะอ่านหนังสือหรือมีสมาธิในการอ่านหนังสือน้อยลง
ความเห็นเกี่ยวกับข้อควรระวังการใช้แท็บเล็ตพบว่า ร้อยละ 36.60 เห็นว่าการนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ร้อยละ 32.87 เห็นว่าควรมีครูหรือผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ความเห็นเกี่ยวกับปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อการอ่านของเยาวชนและคนไทย ร้อยละ 22.38 เห็นว่า ไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลา ร้อยละ15.22 ตัวเด็กเองขาดความกระตือรือร้น ขาดสมาธิในการอ่าน ร้อยละ 12.02 คนไทยยังไม่เห็นความสำคัญของการอ่านเท่าที่ควร
ความเห็นเกี่ยวกับการรับทราบว่า "การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ" (ครม.มติให้ปี 2552-2561 เป็นวาระการอ่านแห่งชาติ) ร้อยละ 62.55 ทราบจากสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต วิทยุวารสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ร้อยละ 36.71 ไม่ทราบเพราะไม่ได้ติดตามข่าวสาร ความเห็นเกี่ยวกับประชาชนต้องการให้รัฐบาลผลักดัน "วาระการอ่านแห่งชาติ" ต่อไปหรือไม่? ร้อยละ 95.72 ต้องการ ให้รัฐบาลผลักดันต่อไป