นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 26 — 28 กันยายน 2554 ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพิเศษ เนื่องจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา และใกล้ทางน้ำไหลผ่านเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงของทั้ง 2 จังหวัด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย หากพบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติให้รีบอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ เนื่องจากกรณีที่มีน้ำล้นจากประตูระบายบางสมศรี จังหวัดสิงห์บุรี ไหลลงสู่จังหวัดลพบุรี อำเภอบ้านแพรก อำเภอท่าเรือ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ประกอบกับจะมีฝนตกหนักในทั้ง 3 จังหวัด (พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี) จึงขอให้จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมการวางแผนป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและมวลน้ำที่ไหลมาสมทบในพื้นที่ในระยะนี้ไว้ด้วย
ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดกวดขันดูแลการขนย้ายผู้ประสบภัยทางเรือ การบรรทุกสิ่งของให้ความช่วยเหลือทางเรือโดยตรวจสอบความปลอดภัยของสภาพเรือ กำลังของเครื่องเรือ และการรับน้ำหนักของเรือ ไม่บรรทุกเกินน้ำหนักที่เรือกำหนด รวมถึงให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพทุกราย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำที่อาจสร้างความสูญเสียซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ตลอดจนขอให้จังหวัดที่ประสบสถานการณ์น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ประสานการปฏิบัติกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 140 อำเภอ 1,052 ตำบล 80,312 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 573,160 ครัวเรือน 1,903,708 คน มีผู้เสียชีวิต 140 ราย ผู้สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124บ่อ/กระชัง สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,727,694 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 31 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 73 สาย ใน 23 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอเมือง อำเภอบ่างมูลนาก จังหวัดพิจิตร อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอตระการพืชผล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอลำปลายมาศ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมือง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ลุ่มน้ำโขง ที่อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ลุ่มน้ำสะแกกรังที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,128 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 97ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุ ร้อยละ 116 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายเขื่อนให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ