เอแบคโพลล์เผยภาพลักษณ์ตำรวจโดยรวมยังดี แต่เชื่อมีการล้วงลูกแทรกแซงทางการเมือง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2011 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของข้าราชการตำรวจและสาธารณชนต่อมาตรฐานจริยธรรมตำรวจ พบว่า ดัชนีจริยธรรมตำรวจที่ผ่านค่ามาตรฐานสูงสุดได้แก่ ความกรุณาปราณีต่อประชาชนของตำรวจได้ 157.92 จุด รองลงมาได้แก่ การรักษาความลับของทางราชการและความลับที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือจากประชาชนผู้มาติดต่อราชการได้ 155.54 จุด อันดับที่สามได้แก่ การรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิตของตำรวจได้ 154.52

การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว กระตือรือร้นต่อการแจ้งเหตุของประชาชนได้ 153.96 จุด การกระทำด้วยปัญญาของตำรวจได้ 153.43 จุด การดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินทางราชการไม่ให้เสียหายและบำรุงรักษาพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเองได้ 153.16 จุด ไม่ละทิ้งหน้าที่ ไม่ปัดความรับผิดชอบ ได้ 152.11 จุด มีความอดทนต่อความเจ็บใจของตำรวจ ได้ 151.39 จุด มีความเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ตำรวจได้ 150.52 จุด การมุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนของตำรวจได้ 150.52 จุด

การดำรงตนในความยุติธรรมของตำรวจได้ 150.23 จุด ความไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากของตำรวจได้ 147.73 จุด และการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกตนเองให้ปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีของตำรวจช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาได้ 143.42 จุด เป็นต้น โดยมีค่าจริยธรรมตำรวจภาพรวมทั้งหมดสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ระดับ 145.17 จุด

ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีชี้วัดจริยธรรมตำรวจที่ต่ำกว่าค่าอ้างอิงจริยธรรมมาตรฐาน หรือต่ำกว่า 100 จุด ได้แก่ ความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ที่ได้เพียง 85.89 จุด

"การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของตำรวจไม่ได้แย่อย่างที่หลายฝ่ายคิด เพราะข้อมูลทั้งจากตำรวจและประชาชนยืนยันสอดคล้องกันว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านจริยธรรม คุณธรรมและอุดมคติของตำรวจเกือบทุกตัว น่าจะเป็นเพราะองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนและถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่สังคมและสถาบันสื่อมวลชนยังไม่เข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ระบุ

ทั้งนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจ เรื่องเสียงสะท้อนของข้าราชการตำรวจและสาธารณชนต่อมาตรฐานจริยธรรมตำรวจ กรณีศึกษาตัวอย่างข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร และระดับประทวน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ระดับสถานีตำรวจทั่วประเทศใช้การเลือกตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อของสถานีตำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 1,283 นาย และตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ ตรัง และสงขลา ในระหว่างวันที่ 1 - 27 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ