นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2554 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กู้ยืมทั้งสิ้น 42,712 ล้านบาท มีเป้าหมายให้กู้ยืมสำหรับนักเรียน นักศึกษา จำนวน 981,712 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ที่ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมผ่านระบบ e-Studentloan จำนวนทั้งสิ้น 1,053,078 ราย โดยสถานศึกษาได้คัดเลือกผู้มีสิทธิกู้ยืมจำนวน 892,159 ราย แบ่งเป็นผู้กู้ยืมรายเก่า 622,354 ราย และผู้กู้ยืม รายใหม่ 269,805 ราย หรือแบ่งตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 187,675 ราย ระดับ ปวช. 114,484 ราย ระดับ ปวท./ปวส. 108,202 ราย และระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี 481,798 ราย โดยในภาคเรียนที่ 1/2554 ได้มีการบันทึกกรอบวงเงินกู้ยืมเพื่อโอนเงินค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนให้แก่ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาแล้วราว 2 หมื่นล้านบาท
โดยขณะนี้มีผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาและครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,461,999 ราย รวมเป็นเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 46,617 ล้านบาท ผลปรากฎว่าปัจจุบันมีผู้กู้ยืมมาติดต่อชำระเงินคืนแล้วจำนวน 1,880,483 ราย หรือคิดเป็น 76.37% ของผู้ที่ครบกำหนดชำระเงินคืน แบ่งเป็นผู้กู้ยืมที่ชำระมากกว่าเกณฑ์ 168,468 ราย ชำระตามเกณฑ์ 477,941 ราย ชำระบางส่วน 1,234,074 ราย และหนี้สูญ (เสียชีวิต) 22,339 ราย รวมเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนทั้งสิ้น 24,989.46 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.7%
นายเสริมเกียรติ กล่าวว่า ในปี 2554 กองทุนฯ ได้มีนโยบายสนับสนุนการกู้ยืมในสาขาวิชาที่จบแล้วมีงานทำหรือสาขาวิชาที่ขาดแคลนซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการผู้ที่เรียนในสายอาชีพและสายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยกองทุนฯ ได้เพิ่มเงินกู้ยืมค่าครองชีพให้แก่ผู้เรียนระดับ ปวช. จากเดิมเดือนละ 1,375 บาท เพิ่มเป็น 2,200 บาท หรือ 26,400 บาทต่อปี และได้เพิ่มเพดานการกู้ยืมค่าเล่าเรียนบางสาขาวิชาของระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการศึกษาจริง ได้แก่ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อปี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 90,000 บาทต่อปี สาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ จากเดิม 150,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อปี