ศอส.เผยหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-ดินโคลนถล่ม,เหยื่อพุ่ง 188 ศพ

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2011 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภาณุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศอส.) ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยใน 9 จังหวัด ได้แก่ นครนายก จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ให้ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นเนสาดที่จะเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันนี้ ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 29-30 ก.ย.ยังประกาศเตือน 8 จังหวัดให้เฝ้าระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยใน จ.เชียงใหม่(อ.แม่แตง,ฝาง,สะเมิง,แม่ริม,สันทราย,ดอยสะเก็ด,แม่ออน,ไชยปราการ,เชียงดาว) เชียงราย(อ.เวียงป่าเป้า,แม่สรวย) แม่ฮ่องสอน(อ.แม่สะเรียง) ลำปาง(อ.เมือง,ปาน,วังเหนือ,แจ้ห่ม) สุโขทัย(อ.ศรีสัชนาลัย) อุตรดิตถ์(อ.น้ำปาด,ลับแล,ท่าปลา) จันทบุรี(อ.ขลุง) ตราด(อ.เกาะช้าง,บ่อไร่) เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินชุ่มน้ำ เริ่มมีดินไหล และน้ำหลากในบางพื้นที่แล้ว จึงขอให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยออกประกาศแจ้งเตือนภัย และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ หากสถานการณ์วิกฤตให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทันที รวมถึงจัดมิสเตอร์เตือนภัยเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ศอส.ได้ย้ำให้จังหวัดที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจัดทำธงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบ้านที่มีผู้ป่วย คนชรา หรือเด็กเล็ก เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้เป็นกรณีพิเศษ รวมถึงให้นายอำเภอตรวจสอบการดำเนินการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางระบบ และสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 160 อำเภอ 1,158 ตำบล 8,618 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 591,592 ครัวเรือน 1,894,792 คน ผู้เสียชีวิต 188 ราย

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิงที่ อ.เมือง จ.ลำพูน และจะล้นตลิ่งที่ อ.ดอยสะเก็ด สันทราย หางดง สารภี สันป่าตอง จ.เชียงใหม่, อ.บ้านธิ ป่าซาง เวียงหนองล่อง จ.ดลำพูน, อ.จอมทอง ฮอด ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ตามลำดับ

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,344 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,628 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,255 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 93% เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 99% เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 94% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 135%

ด้านนายวสันต์ มีวงษ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) ชี้แจงว่า กรณีสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยในการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 13 เขตของ กทม. เพื่อเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น กทม.ได้เตรียมแผนรับมือและทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งกำชับผู้อำนวยการเขต 50 เขตในการดูแลพื้นที่และให้ความช่วยเหลือประชาชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสูง 2.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จัดเรียงกระสอบทรายบริเวณจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยาทุกจุดความสูง 2.80-3 เมตร เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนโดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงประมาณ 2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตลอดจนเตรียมความพร้อมเดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลัง พร่องน้ำในคลองทุกสายเพื่อรับการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังมีแก้มลิงจำนวน 21 แห่ง เพื่อการรองรับน้ำ 12.75 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลกับสถานการณ์ขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ