นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และเชียงใหม่ รวม 150 อำเภอ 1,078 ตำบล 7,750 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 559,895 ครัวเรือน 1,841,385 คน ผู้เสียชีวิต 205 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 6,157,916 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ บ่อปลา 90,242 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,937,065 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 123 สาย แยกเป็น ทางหลวง 37 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 86 สาย ใน 18 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิงที่ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอหางดง อำเภอสารภี อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และคาดว่าจะล้นตลิ่ง ตามลำดับ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม คาดว่าน้ำจะล้นตลิ่งภายใน 1- 2 วันนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,344 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,616 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,255 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 93 เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำร้อยละ 94 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำร้อยละ 135
นายพระนาย กล่าวว่า พายุเนสาดอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 1 -2 วันนี้ ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้คลื่นสูง 2 — 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้ไว้ด้วย รวมถึงแจ้งเตือน5 จังหวัด เฝ้าระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดเชียงราย (อำเภอเมือง) พะเยา (อำเภอปง) น่าน (อำเภอท่าวังผา) หนองคาย (อำเภอสังคม) และพังงา (อำเภอคุระบุรี) เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเกิน 100 มม.จึงขอให้จังหวัดประกาศแจ้งเตือนภัย และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ หากสถานการณ์วิกฤต ให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทันที รวมถึงจัดมิสเตอร์เตือนภัยเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ พร้อมประสานหน่วยทหารในการจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และลำเลียงผู้ป่วยในพื้นที่เส้นทางถูกตัดขาดไปยังโรงพยาบาล ตลอดจนสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งปฎิกูล เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และฟื้นฟูเส้นทางคมนาคมที่เสียหาย