ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องเสียงสะท้อนจากคนที่เป็นทุกข์เหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐพบว่า ค่าสูงสุดอยู่ที่10 คะแนน ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติโดยภาพรวมมีความทุกข์ระดับมากเกือบทุกข์มากที่สุดคืออยู่ที่ 7.99 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักก็มีระดับความทุกข์มากคือ 7.04 คะแนน แต่คนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักมีความทุกข์สูงถึง 8.59 คะแนน
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีสองประเภทคือ ความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ โดยทุกข์ทางกายที่จับต้องได้ ได้แก่ มีอาหารและน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ขาดยารักษาโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพเจ็บไข้ได้ป่วย ปัญหาการขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ทรัพย์สินสูญหาย ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และบ้านเรือนสิ่งของเครื่องใช้ชำรุด เป็นต้น และทุกข์ทางจิตใจ ได้แก่ ความเครียด การถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติและรู้สึกหมดหวังเคว้งคว้างหลังน้ำลด เป็นต้น
เมื่อสอบถามประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมประเมินความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า เมื่อคะแนนความพอใจเต็ม 10 คะแนน ประชาชนประเมินความพอใจให้เพียง 4.67 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักให้ 4.76 คะแนนสูงกว่าคนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักที่ให้เพียง 4.52 คะแนน ถ้านำผลประเมินความพอใจของคนทั่วไปในประเทศเมื่อประมาณสองสัปดาห์ 5.80 คะแนนมาพิจารณา ก็จะพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพราะความพอใจของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้อยู่ที่ 4.67 เท่านั้น
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ค้นพบนี้มีนัยทางสังคมและการเมืองที่น่าพิจารณาคือ ชาวบ้านรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติของมาตรการช่วยเหลือป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไขมีอย่างน้อยห้าประการ ได้แก่ ประการแรก ต้องทำให้ชาวบ้านเกิดความวางใจหรือ TRUST ว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะภัยพิบัติน้ำท่วมจะยังคงเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกในอนาคต
ยังพบสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ระบุว่าการช่วยเหลือของทางรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่ทั่วถึง กลุ่มเครือญาติและฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่นแกนนำชุมชนและคนที่อยู่ริมถนนใหญ่ได้รับของบริจาคทั้งจำนวนที่มากกว่าและคุณภาพดีกว่าโดยพวกแกนนำชุมชนจะมีโอกาสคัดเลือกของดีๆ เอาไว้ก่อน และยังมีการเวียนเทียนได้แล้วได้อีก เป็นต้น
ประชาชนที่เป็นทุกข์เหล่านี้ส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและนักการเมืองในถ้อยคำที่สอดคล้องกันว่า อยากให้มาเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่มายกมือไหว้พวกเราถึงหน้าบ้าน ตอนนี้พวกเราทุกข์ที่บ้านทำไมมาได้แค่กางเต้นท์แล้วให้พวกเราออกไปหา บางคนบอกว่า ถ้ามาเคาะประตูไม่ได้ก็ให้ช่วยส่งคนมาขนพวกเราไปเหมือนตอนขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้ง บางคนแย้งว่ามีการขนคนไปเหมือนกันแต่ไม่ได้แวะรับพวกเราไปทำให้พวกเรารู้สึกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติช่วยกลุ่มฐานเสียงหรือคนที่ใกล้ชิดพวกเขาก่อน และการช่วยเหลือก็มักจะไปเน้นกันตรงพื้นที่ที่เป็นข่าวใหญ่มากกว่า
ประการที่สอง รัฐบาลน่าจะใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคและท้องถิ่นออกทำสำมะโนประชากรในพื้นที่ภัยพิบัติแจงนับมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนสอดคล้องกับความเป็นจริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติมีหน่วยงานสถิติจังหวัดและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลและการสำรวจเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม
ประการที่สาม ในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซากน่าจะมีการกระจายความเสี่ยงภาระของรัฐบาลไปยังภาคเอกชนด้วยโครงการศึกษาพื้นที่นำร่องให้บริษัทประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยง และน่าจะมีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางรายว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดภัยพิบัติซ้ำซากเพื่อจะได้งบประมาณภัยพิบัติมาใช้ในพื้นที่หรือไม่ ในขณะที่กลุ่มนายทุนผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทานขนาดใหญ่จากรัฐหรือมีผลกำไรจากสินค้ามวลชนน่าจะใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมแสดงความรับผิดชอบทางสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับรัฐบาลอย่างจริงจังไม่ใช่แค่แผนการตลาดโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว
ประการที่สี่ ในขณะที่มีความเคลือบแคลงสงสัยปัญหาทุจริตคอรัปชั่นการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ เวลานี้ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นน่าจะประกาศรายรับรายจ่าย การบริจาคสิ่งของต่างๆ ได้ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปแล้วเท่าไหร่อย่างไรโดยแจกแจงให้สาธารณชนทั้งประเทศและประชาชนในท้องถิ่นที่ประสบภัยพิบัติรับทราบอย่างทั่วถึง เพราะหากเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อีกในอนาคตคนที่ให้จะได้มั่นใจและคนที่จะได้รับก็จะได้วางใจในความช่วยเหลือต่างๆ เช่นกันเพื่อป้องกันความตื่นตระหนกหรือ PANIC ได้
ประการที่ห้า รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดน่าจะเข้าถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักแบบเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียง หรือมีวิธีตรวจสอบว่าการช่วยเหลือครอบคลุมไม่มีชาวบ้านตกสำรวจและประกาศให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจต่อแนวทางช่วยเหลือในสามระยะได้แก่ ระยะสั้นขณะน้ำท่วม ระยะที่สองภายหลังน้ำลด และระยะยาว เช่น ปัญหาสุขภาพ การเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย การประกอบอาชีพ เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ และแนวทางขุดลอกคลองที่จะป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เป็นต้น เพื่อทำให้ “หน้าจอกับหน้าบ้าน" ของประชาชนเหมือนกัน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเกิดความพอใจและวางใจต่อการทำงานของรัฐบาลได้
ทั้งนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 8 จังหวัดของประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,083 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน — 1 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า
ตัวอย่างประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมีอยู่ร้อยละ16.6 และกลุ่มที่ประสบภัยน้ำท่วมเกือบทุกปีมีอยู่ร้อยละ 18.8 ในขณะที่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นบางปีมีอยู่ร้อยละ 44.4 และไม่เคยท่วมแต่เพิ่งจะท่วมปีนี้มีอยู่ร้อยละ 20.2
ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างร้อยละ 51.1 ระบุได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ แล้ว แต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด ในขณะที่เพียงร้อยละ 16.7 ระบุได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย
เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างจากถนนหลัก พบแตกต่างกันของการได้รับความช่วยเหลือระหว่างประชาชนที่พักอาศัยติดถนนหลัก กับประชาชนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลัก โดยพบสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่มีบ้านติดถนนหลักเพียงร้อยละ 24.8 และคนที่อยู่ห่างไกลจากถนนหลักเพียงร้อยละ 10.7 ได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอจนถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ กลุ่มคนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลักร้อยละ 54.1 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด และร้อยละ 35.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ตามลำดับ