นายกฯ กำชับป้องกันแน่นหนาเขตอุตฯ อยุธยาหลังเสียหายกว่า 2.5 หมื่นลบ.

ข่าวทั่วไป Thursday October 6, 2011 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยกำชับให้มีการเสริมแนวคันกั้นน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 เมตรจากระดับปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้พื้นที่น้ำท่วมหนัก แต่ขณะนี้ยังไม่ถูกน้ำท่วม โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน ส่วนโรงงานที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานไปยังโรงโม่หิน เพื่อนำหินคลุกมาช่วยในการรับน้ำ รวมถึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ย้ำในทุกพื้นที่ให้ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างทั่วถึงทั้งในเรื่องที่พัก และอาหาร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้จะยังไม่ประกาศให้ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นเขตภัยพิบัติ โดยขอประเมินสถานการณ์ในทุกด้านก่อน เพราะหากประกาศเร็วเกินไปอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ได้

ส่วนกรณีที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เตรียมจะปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพิ่มอีกนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ได้หารือกับกรมชลประทานในวันนี้ทราบว่าจะมีการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ซึ่งจะใช้ทั้งเครื่องผันน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งการขุดลอกคูคลองเพิ่มขึ้น ส่วนพายุลูกใหม่ที่จะพัดเข้าประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบระดับความรุนแรง โดยขอประเมินสถานการณ์อีกรอบกลางเดือน ต.ค. ถึงจะสามารถบอกได้ว่าจะรับมือได้มากน้อยเพียงใด

"น้ำมันเยอะจริงๆ เจอพายุมา 5 ลูก กำลังเจออีก 2 ลูก บางพื้นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา น้ำในด้านต่างๆ ไม่มีทางออก แต่จะใช้จังหวะก่อนที่น้ำทะเลกำลังจะหนุนสูงขึ้น เร่งระบายน้ำให้เต็มที่"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ประเมินความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 25,000 ล้านบาท ซึ่งนับรวมทั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนความเสียหายของสินค้า และวัตถุดิบ และการที่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปยังนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร 49 โรงงาน ได้ทำประกันวินาศภัยไว้แล้ว ส่วนโรงงานอื่นๆ ที่อยุ่นอกเหนือนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 120 แห่งไม่มีการทำประกันภัยไว้ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยเหลือตามมติครม.เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 6% ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank)โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้ 2% กู้ได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 6 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก เพื่อนำเงินไปซ่อมแซมโรงงานที่ได้รับความเสียหายหลังจากน้ำลด

พร้อมกันนี้ จะยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตโรงงาน 5 ปี ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องปิดชั่วคราวนั้น ยืนยันว่า กระทรวงอตุสาหกรรมจะหามาตรการเข้าไปช่วยดูแล และจะพยายามไม่ให้เกิดปัญหาการปลดคนงาน ซึ่งตามกฎหมายนั้นโรงงานไม่สามารถปลดพนักงานได้ และต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับ จนกว่าจะกลับไปทำงานได้ตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ