ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่อง "สุขภาพจิตของคนกรุงในช่วงเริ่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์" พบว่าคนกรุงเทพฯ มองว่าเรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(เริ่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์) อันดับแรก คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น รองลงมา เรื่องการจราจรติดขัด, การเป็นหนี้เป็นสิน, กลัวบ้านน้ำท่วม และกลัวจะไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 ตามนโยบายที่รัฐเคยหาเสียงไว้
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.2% ให้ความเห็นต่อเรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดในข้างต้นว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ขณะที่ 15.9% ระบุว่ามีสาเหตุมาจากรัฐบาล และอีก 10.3% ระบุว่ามีสาเหตุมาจากตัวเอง
สำหรับบุคคลที่คนกรุงเทพฯ คิดว่าจะปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งทางใจในยามเครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุด คือ คนในครอบครัว รองลงมาเป็น เพื่อน, คนรัก และไม่ปรึกษาใครแต่แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยกิจกรรมที่ทำมากที่สุดเพื่อลดความเครียด ความวิตกกังวล หรือเป็นทุกข์ พบว่าส่วนใหญ่ตอบว่ากินข้าวกับครอบครัว รองลงมา นั่งสมาธิ เข้าวัด ฟังธรรม และการเล่นอินเทอร์เน็ต แชท
ส่วนความคิดเห็นต่อการไปพบจิตแพทย์เมื่อเกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นทุกข์ พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ 71.1% คิดว่าจะไม่ไป(โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นทุกข์ถึงขนาดที่ต้องไปพบจิตแพทย์) ขณะที่ 28.9% คิดว่าจะไป
เมื่อถามว่าปัญหาความเครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์ที่ผ่านมา ทำให้ท่านเคยคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายบ้างหรือไม่ คนกรุงเทพฯ 94.4% ระบุว่าไม่เคยคิด ขณะที่มีเพียง 2.9% ระบุว่าเคยคิดทำร้ายตัวเอง ส่วนอีก 2.7% ระบุว่าเคยคิดฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงสุขภาพจิตโดยรวมของคนกรุงเทพฯ พบว่า 87.8% ระบุว่าตัวเองมีสุขภาพจิตดี มีเพียง 12.2% ที่ระบุว่าตัวเองมีสุขภาพจิตไม่ดี
อนึ่งผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชน 1,189 ราย ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 30 เขต จาก 50 เขต ดำเนินการสำรวจในช่วงวันที่ 30 ก.ย.- 3 ต.ค.54