ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เตือน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก (อำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด ) กำแพงเพชร ( อำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำภอ คลองลาน) ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และอำภอบ้านคา) เพชรบุรี (อำเภอหนองหญ้าปล้อง) จันทบุรี (อำเภอขลุง และอำเภอเขาคิชฌกูฏ) ตราด (อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเกาะช้าง) เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในระยะนี้ไว้ด้วย โดยให้หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากสถานการณ์วิกฤต จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
นายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการ ศอส. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างยังค่อนข้างวิกฤต ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่แล้ว คาดว่ามวลน้ำจากเขื่อนภูมิพลจะไหลมาสมทบกับมวลน้ำเดิมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในระยะ 7 วันข้างหน้า ส่งผลให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13 — 17 ตุลาคม 2554 (สูงสุดวันที่ 15- 17 ตุลาคม 2554) ช่วงวันที่ 26 — 31 ตุลาคม 2554 (สูงสุดวันที่ 29-30 ตุลาคม 2554) ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงและมีน้ำเหนือไหลมาสมทบ หากมีฝนตกหนัก จะทำให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2554 ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์จะสูงถึง 5,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 15-16 ตุลาคม 2554 สูงถึง 4,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สระบรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา ขยายวงกว้าง และระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่ไหลมาสมทบในช่วงดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเกินความจุที่ร้อยละ 135
ศอส.จึงได้กำชับให้จังหวัดพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคกลางตอนล่างเตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าขั้นวิกฤติ โดยเร่งเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น พร้อมตรวจสอบคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันคันกั้นน้ำพัง ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตป้องกันโดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่สำคัญๆ ของจังหวัด
ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 28 จังหวัด รวม 212 อำเภอ 1,523 ตำบล 11,268 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 826,749 ครัวเรือน 2,696,521 คน ผู้เสียชีวิต 252 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสะแกกรัง สถานการณ์น้ำอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,596 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณไหลผ่าน 3,619 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,567 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น