นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมีศูนย์หลักที่สำนักงานใหญ่ พร้อมทั้งให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น คลัง ปั๊มน้ำมันต่างๆ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันท่วงที ส่วนของการดูแลพลังงานทั้งน้ำมันและแอลพีจีไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน
สำหรับการช่วยเหลือของบริษัทฯ ได้ดำเนินการ 3 ระยะ คือ ในระยะแรกให้ความช่วยเหลือด้วยการมอบถุงยังชีพ 5 พันถุงต่อวัน ระยะที่ 2 คือ การป้องกันและให้ความช่วยเหลือด้วยการบริจาคถุงทราย 100,000 ถุง บริจาคน้ำดื่ม และแจกคู่มือป้องกันภัยพิบัติ ในศูนย์บริการเคลื่อนที่พื้นที่ภาคกลาง 4 จุด ได้แก่ พุทธมณฑล, รังสิต-นครนายก, ประตูน้ำพระอินทร์, สมุทรปราการ
และในส่วนภูมิภาคมีการจัดตั้งศูนย์บริการเคลื่อนที่ 5 ศูนย์ ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ใน อ.เมือง จ.ปทุมธานี, อ.โรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.บ้านหมอ อ.ท่าหลวง อ.บ้านครัว จ. สระบุรี, อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และ จ.พิษณุโลก โดยให้ความช่วยเหลือโครงการบริการที่ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ บริการตรวจสุขภาพ บริการอาหารสำเร็จรูป, โครงการสุขาเคลื่อนที่, โครงการแจกชุดช่วยฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เทียน ยารักษาโรค, โครงการเสริมสร้างสุขภาพจิต เช่น สันทนาการ พระเทศน์ ฯลฯ, โครงการ EM BALL ปรับสภาพน้ำเสีย และจัดทำโครงการน้ำมันปันน้ำใจ 84 วัน มูลค่า 84 ล้านบาท โดยมอบน้ำมันเบนซินถังเล็กขนาด 15 ลิตร 15,000 ถัง และดีเซลขนาด 18 ลิตร จำนวน 15,000 ถัง เป็นต้น
ส่วนโครงการระยะที่ 3 จะดำเนินการภายหลังน้ำลด ในส่วนของการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือ โดยบริษัทฯ จะจัดทำโครงการต่อเนื่องหลายโครงการ ได้แก่ โครงการจูนอัพบริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์, บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง,โครงการจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นราคาพิเศษลด 50%, โครงการตรวจสอบความปลอดภัยถังก๊าซหุงต้ม, ถังก๊าซหุงต้มและอุปกรณ์ 1,000 ชุด, โครงการสนับสนุนการซ่อมถนน, โครงการตรวจสอบความปลอดภัย ระบบไฟฟ้า อาทิ ปลั๊กไฟ, โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และโครงการน้ำสะอาดเพื่อผู้บริโภค จุดจ่ายน้ำบริโภค เป็นต้น
ทั้งนี้หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรมาได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทฯ ที่ 1365 โดยจะมีการส่งความช่วยเหลือเข้าไปหาผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด
"ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะน้ำท่วมทั้งพื้นที่การเกษตรและนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในเบื้องต้นความต้องการสินค้าด้านเม็ดพลาสติกและน้ำมันจะลดลง แต่ในช่วงการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด ความต้องการจะเพิ่มขึ้น โดยการที่ฝนตกหนักในปริมาณสูงนี้ เหตุหนึ่งจะมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ภูมิอากาศโลกแปรปรวน โดยในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ไทย ความชื้นจะมีเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมรับความผันแปรเหล่านี้" นายไพรินทร์ กล่าว