กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่า จีนและพม่าเห็นพ้องกันว่าจะจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในพม่าอย่างเหมาะสม โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความร่วมมือและจะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างที่นายหยาง เจียฉี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน หารือกับนายวันนา หม่อง ลวิน รมว.ต่างประเทศพม่า ในกรุงปักกิ่ง ขณะที่รมว.ต่างประเทศพม่าเดินทางเยือนจีนในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า
แถลงการณ์ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศหารือกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมิตซง (Myitsone) ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกประธานาธิบดีพม่าสั่งระงับ
นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายยังแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี และประเด็นอื่นๆโดยทั่วไป ซึ่งต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจระดับทวิภาคีและร่วมมือกันทางด้านยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน
ในวันเดียวกัน นายวันนา หม่อง ลวิน ยังได้พบกับรองประธานาธิบดีซี จินปิง ซึ่งนายซีได้เรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศหารือกันอย่างฉันมิตรเพื่อหาทางออกในประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้น
แถลงการณ์อ้างคำกล่าวของนายซีที่ระบุว่า จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือและในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน นอกจากนี้ยังพร้อมเดินหน้าความพยายามที่จะส่งเสริมความร่วมมือระดับปฏิบัติการทวิภาคี โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพกันและกัน ความเสมอภาค และผลประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่รมว.ต่างประเทศพม่าได้ส่งคำทักทายและสารจากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไปถึงประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน พร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลพม่าเห็นความสำคัญของสัมพันธภาพฉันมิตรกับจีนเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับจีนอย่างใกล้ชิด
เขายังยืนยันว่า พม่าจะร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออันจะนำมาสู่ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมเพิ่มความร่วมมือด้านความเข้าใจและด้านยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายเต็ง เส่ง ได้มีคำสั่งระงับโครงการก่อส้างเขื่อนขนาดยักษ์บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำอิรวดี ในรัฐคะฉิ่นซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของพม่า ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทไชน่า เพาเวอร์ อินเวสต์เมนท์ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จีน เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่า เขื่อนขนาดยักษ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าประมาณ 766 ตารางกิโลเมตร และประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่ รวมทั้งทำให้พื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต้องจมลงสู่ใต้น้ำ และทำลายส่วนหนึ่งของป่าที่มีระบบนิเวศที่หลากหลายที่สุดในโลก
นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนยังทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบแม่น้ำหลักของพม่า รวมทั้งชุมชนปลูกข้าวตลอดลุ่มแม่น้ำ