นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบถึงแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาที่ได้รับอิทธิพลพายุไห่ถางที่ยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยมีปริมาณน้ำเพียง 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำเพียง 3 —4 วันเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องเตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าหากปริมาณน้ำมามากกว่านี้จากเดิมที่ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน หากน้ำมามากเท่าที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีจะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำถึง 30 วัน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาในจุดต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากปริมาณน้ำรวมทั้งหมดที่สะสมอยู่ทั้งทางภาคเหนือตอนล่างได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ซึ่งมีปริมาณน้ำกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับปริมาณน้ำสะสมอยู่เดิมทางภาคกลางไล่มาตั้งแต่อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาที่มีปริมาณน้ำอยู่ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้นจะมีปริมาณน้ำรวม 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการไหลของน้ำไม่มาได้มาพร้อมกันทั้งหมดในครั้งเดียว
ดังนั้น มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อชะลอหรือยับยั้งปริมาณน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรีที่จะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ (12 ตุลาคม 2554) อย่างแน่นอน จากนั้นจะมีการเคลื่อนกำลังพลทั้งหมดไปซ่อมแซมคันกั้นน้ำขาดที่เขากระดี่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักฯ ที่จะลดการระบายน้ำลงเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำกระทบกับพื้นทื่ท้ายเขื่อนไปมากกว่านี้ ซึ่งในวันนี้ได้ลดการระบายน้ำที่เขื่อนป่าสักฯ เหลือ 850 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที และในวันพรุ่งนี้จะลดลงเหลือ 750 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที ทั้งนี้ หากไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มเติมก็จะเริ่มทยอยลดการระบายน้ำวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร /วินาที ภายใน 4 — 5 วันนี้
นายบรรหาร กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ภายใน 1- 2 วันนี้จะเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินตรวจสถานการณ์น้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ที่สถานการณ์ยังวิกฤตและน่าเป็นห่วง โดยแนวทางหนึ่งที่จะเสนอในการแก้ไขปัญหา คือ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณวัดไชยวนาราม และรอบเกาะอยุธยา รวมถึงแต่ละจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมควรจะมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรในจังหวัดของตนเองเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เช่น จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น