กทม.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงใกล้ชิด, กรมป้องกันฯ เตรียมรับมือช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 12, 2011 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครวันนี้ อยู่ในภาวะที่รับมือได้เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงโดยเฉลี่ย โดยในส่วนของจุดเสี่ยงนอกแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงเฝ้าระวังเนื่องจากระดับน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและระดับน้ำทะเลหนุนปริมาณลดลงจากเมื่อวานนี้

ส่วนสถานการณ์น้ำด้านกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกพบว่า ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี ระดับน้ำ 1.29 ม. สูงกว่าระดับควบคุม 39 ซม. และประตูระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ตอนลาดกระบังระดับน้ำ 0.78 ม. สูงกว่าระดับควบคุม 18 ซม. ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากเมื่อวานนี้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากบริเวณชุมชนที่อยู่ริมคลองยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้น

สำหรับจุดอ่อนที่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน ยังคงสามารถควบคุมได้ กรณีที่มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการสูบน้ำภายใน 2 ชั่วโมง ส่วนระดับน้ำคลองต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะปกติ

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ประจำปี 2554 ของกรุงเทพมหานคร รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและสภาพน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ประจำวันที่ 12 ต.ค.54 ว่า ปริมาณฝนสูงสุดที่เขตทวีวัฒนา วัดได้ 34.5 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพระรามหกลงสู่เจ้าพระยา รวม 4,630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่ง ลดจากเมื่อวาน 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วัดได้ 3,649 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มจากเมื่อวาน 89 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุด วันนี้ เวลา 07.11 น. ระดับ +0.97 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเวลา 18.20 น. ระดับ +1.04 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.54) ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุด เวลา 07.48 น. ระดับ +1.04 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเวลา 18.42 น. ระดับ +1.01 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตรวจวัดที่ปากคลองตลาด เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.54) เวลา 18.00 น. ระดับ +2.02 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 72 ซม.) ขณะที่วันนี้ (12 ต.ค.54) สูงสุด เวลา 07.00 น. ระดับ +2.01 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 88 ซม.) สำหรับการคาดการณ์วันนี้ โดยกรมอุทกศาสตร์ ทหารเรือ ระดับน้ำสูงสุดเวลา 18.20 น. ที่ระดับ +2.04 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในระยะนี้สถานการณ์น้ำในภาคเหนือและภาคกลางมีปริมาณมาก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณสูงถึง 3,500 — 4,200 ลบ.เมตร/วินาที เป็นผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะมีความสูงประมาณ 1.95 — 2.30 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง และอาจสูงกว่า 2.30 เมตร ในช่วงที่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่าปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่ 14 — 17 และ 28 — 31 ตุลาคม 2554 โดยระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดในช่วงวันที่ 29 ตุลาคม 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดจากระดับน้ำเหนือที่ไหลหลากเข้าสู่กรุงเทพฯ ในช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นและน้ำทะเลหนุนสูงในคราวเดียวกัน โดยให้ติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง รวมถึงจัดทำกระสอบทรายเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำบริเวณหน้าบ้านและท่อระบายน้ำ พร้อมตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง

ที่สำคัญ ในช่วงที่ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือนให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า และงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

ผู้บริหารกทม.ลงพื้นที่ต่อเนื่องดูแลทุกข์สุขประชาชน

ในวันนี้ (12 ต.ค.54) เวลา 10.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตทวีวัฒนา ณ โรงเรียนมัธยมวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา, เมืองเอก จ.ปทุมธานี และพื้นที่ประสบอุทกภัยเขตคลองสามวา ประกอบด้วย ชุมชนสุขสันต์พัฒนา และชุมชนวังตาหนวด ด้านนางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เดินทางไปตรวจและติดตามการจัดตั้งศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนวิชูทิศ ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง ในเวลา 09.30 น.

ขณะที่ วานนี้ (11 ต.ค.54) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร เปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ณ ศาลาประชาคม เขตมีนบุรี รวมถึงเยี่ยมศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวในพื้นที่เขตมีนบุรี จากนั้น ได้เดินทางลงพื้นบริเวณ ต.หลักหก จ.ปทุมธานี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กทม.ซึ่งร่วมกับเทศบาลตำบลหลักหก จ.ปทุมธานี ทหาร นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และประชาชน ในการบรรจุทรายและเสริมแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำในคลองรังสิตเข้าท่วมพื้นที่ ต.หลักหก และพื้นที่ใกล้เคียง

สรุปการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ประจำวันที่ 11 ต.ค.54

ในส่วนของปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ ด้านการแพทย์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.54 นั้น สำนักการแพทย์ กทม. ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในเขตลาดกระบัง พร้อมทั้งแจกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 450 ชุด ตลอดจนให้การดูแลรักษาผู้ป่วยนอกที่มารับบริการภายในโรงพยาบาล จำนวน 1,710 ราย สำนักอนามัย ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย 1,995 ราย พร้อมทั้งแจกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ได้แก่ ยาทารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาทาแผลสด ยาทาบรรเทาผื่นคัน ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ผงน้ำตาลเกลือแร่ และแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองจากโรคที่มาจากน้ำท่วมด้วย

นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม ยังสนับสนุนถังน้ำดื่มและน้ำใช้ ชนิดเหล็กเหลี่ยมขนาด 1,600 ลิตร และรถสุขาเคลื่อนที่ จำนวน 1 คัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยบริเวณหลักหก จ.ปทุมธานี อีกทั้ง สำนักพัฒนาสังคม ได้จัดตั้งโรงประกอบเลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ มื้อละ 300 คน จำนวน 2 แห่ง ที่วัดบางเตยกลาง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ณ สำนักงานเขตมีนบุรี พร้อมทั้งแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อพยพ ณ โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง ซึ่งสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ 100 คน

ประสานเรื่องร้องทุกข์เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล

สำหรับการรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุร้องทุกข์ สายด่วนกทม. โทร. 1555 มีประชาชนโทรศัพท์ขอรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือ 289 ราย ประกอบด้วย ขอสนับสนุนกระสอบทราย 15 ราย จัดทำสะพานไม้ชั่วคราว 1 ราย อาหาร 1 ราย ถุงยังชีพ 2 ราย สอบถามสถานที่เก็บของ 3 ราย ต้องการเครื่องสูบน้ำ 3 ราย สอบถามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 230 ราย และโทรสอบถามเรื่องอื่นๆ เช่น สถานที่อพยพ สถานที่รับบริจาคสิ่งของ 34 ราย ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุร้องทุกข์ได้ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกทม.และพื้นที่เขตที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาและดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดแล้ว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทางสายด่วน กทม.โทร.1555 และเว็บไซต์http://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

-------------------


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ