นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงยืนยันว่า พื้นที่กรุงเทพฯจะไม่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจากนครสวรรค์ถึงชัยนาทจะมีปริมาณ 3,600 ลบ.เมตร ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ที่ 3,800 ลบ.เมตร ประกอบกับหลายเขื่อนได้เริ่มลดการระบายน้ำลงแล้ว
ดังนั้น จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค.นี้ คาดว่าจะต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมรับมือไว้ คาดว่าปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 2.3-2.4 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขณะที่คันกั้นน้ำของ กทม.มีระดับความสูง 2.5 เมตร
"น้ำจะมาถึง กทม.15-16 ต.ค.นี้ ที่ระดับ 2.3-2.4 เมตรเมื่อผ่าน กทม.ซึ่งจะไม่เกินนี้ ขณะที่คันกั้นน้ำของกทม.อยู่ที่ 2.5 เมตร เพราะฉะนั้น กทม.รอดแน่ ผมยืนยัน"อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ยืนยันว่า กทม.จะไม่ถูกกระทบแน่นอน โดยศปภ.ให้ความสำคัญกับทางกรุงเทพมหานครขั้นสูงสุดเนื่องจากเป็นเมืองหลวง จากการเอาน้ำลง 3 ทาง ได้แก่ ทางตะวันออก ทางเจ้าพระยา และทางตะวันตก
"ขณะนี้ควบคุมได้ ไม่ท่วมแน่นอน"ผอ.ศปภ. ระบุ
สำหรับแนวป้องกัน กทม.ปัจจุบันมี 3 แนว คือ หลัก 6 อ.เมือง ปทุมธานี บริเวณเมืองเอก ทางผบ.ทบ.และแม่ทัพภาค 1 ได้ลงพื้นที่ไปตรวจแนวคันกั้นน้ำวานนี้ มั่นใจว่าสามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ, คลองทวีวัฒนาเชื่อมนครปฐม ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว และในวันนี้ได้ขยายฐาน เพิ่มความสูง คันกั้นน้ำบริเวณรังสิตตั้งแต่คลอง 1- คลอง 8 และทำเพิ่มอีกบริเวณคลองรพีพัฒน์แยกตะวันตก ตั้งแต่ประตูน้ำพระอินทร์ถึงคลองรพีพัฒน์ ระยะทาง 24 กม. คาดว่าใช้เวลา 2 วันแล้วเสร็จ
แต่พื้นที่บริเวณรอบนอกกทม. และปริมณฑล ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ถูกกระทบแน่นอน
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องข่าวลือมาก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่มีการส่งสารกันอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งได้มีความพยายามในการแก้ข่าว ทั้งนี้ ยังมีความเป็นห่วงประชาชนที่อาศัยอยู่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตมีนบุรี หนองจอก คลองสามวา ที่ประชาชนต้องแช่น้ำมาหลายเดือนแล้ว หากการระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์สามารถทำให้น้ำลดลง พื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่ก็น่าจะแห้งได้เร็ว ๆ นี้
ส่วนปริมาณน้ำที่จะลงแม่น้ำเจ้าพระยาในวันพรุ่งนี้อยู่ต่ำกว่าระดับแนวเขื่อนกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาแต่น้ำอาจทะลักเข้าตามแนวที่รั่วอยู่บ้างเล็กน้อย แต่จะมีเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ 5,000 คนที่กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ตลอดเวลาจะใช้เครื่องปั๊มน้ำออก ประชาชนจึงไม่ต้องห่วง มั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหานอกจากจะมีพายุฝนเข้ามา
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดการทำคันกั้นน้ำรอบนอกด้านตะวันออกรอบนอกอีกแนวหนึ่งแล้ว นอกเหนือจากคันกั้นน้ำด้านในที่ กทม.ดูแลอยู่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าน้ำจะไม่เข้ามา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ดี ในเรื่องการดูแลประชาชนหลังจากการเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย ผู้อำนวยการ ศปภ. กล่าวว่าได้ดำเนินการใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จัดหาสถานที่ปลอดภัยไว้รองรับในทุกจังหวัด ดูแลการดำรงชีวิตประจำวันให้ประชาชนโดยมอบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานดูแลเฉพาะ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้เรือตรวจตราดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะยาว จะมีการบูรณาการแผนปฏิบัติในทุกเรื่องอย่างเป็นระบบทั้งการฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง