นายธีระ วงษ์สุมทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ยืนยันว่า น้ำจะไม่เข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากมวลน้ำทั้งหมดที่ผ่านลงมากรุงเทพฯ จากที่กรมชลประทานคาดว่าระดับน้ำจะสูงสุดวันที่ 15-16 ต.ค.นั้น ขณะนี้ยอดน้ำสูงสุดจากนครสวรรค์ได้ผ่านกรุงเทพฯ และออกสู่ทะเลไปแล้ว โดยวัดระดับน้ำเจ้าพระยาที่สะพานพุทธ เมื่อวานนี้เวลา 09.00 น. อยู่ที่ 2.29 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
"มวลน้ำทั้งหมดจะทรงๆ จากนี้ไปอีกระยะ น้ำสูงสุดในรอบนี้ผ่านไปแล้ว น้ำจากเจ้าพระยาจะไม่สามารถท่วมคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ที่ทำไว้ที่ระดับ 2.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางได้" รมว.เกษตรฯ แถลง
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า แม้มวลน้ำก้อนใหญ่จาก จ.นครสวรรค์ ได้ผ่านกรุงเทพฯ และไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยไปแล้ววานนี้(15 ต.ค.) แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะทรงตัวอยู่อีกระยะ เนื่องจากน้ำที่ขังอยู่ในทุ่งต่างๆ เป็นจำนวนมากจะไหลลงสู่แม่น้ำอย่างช้าๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำเจ้าพระยาทรงตัว
ส่วนปริมาณน้ำในแต่ละทุ่งขณะนี้ยังมีบางจุดต้องเฝ้าระวังพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) เพราะน้ำได้ข้าม ถ.มิตรภาพ มาลงสู่คลองหกวาสายล่าง และคลองระพีพัฒน์แยกตก
"ศปภ.ขอบคุณประชาชนที่ยอมให้เปิดคลองแปด คลองเก้า คลองสิบ ทำให้สามารถระบายน้ำออกสู่ฝั่งตะวันออกได้ และมวลน้ำที่ผ่านคลองหนึ่ง ประตูน้ำจุฬาฯ นั้น กรมชลฯ จะพยายามใส่เครื่องสูบน้ำให้มากที่สุด นอกจากนี้จะพยายามนำน้ำออกประตูเชียงรากน้อย ซึ่งถ้าระดับน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าน้ำในคัน เราจะเปิดประตูเชียงรากน้อยเพื่อระบายน้ำออกอีกทาง" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งในช่วงปลายเดือน คือตั้งแต่วันที่ 28-30 ต.ค. ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนว่าอย่ารื้อหรือทำลายแนวคันกั้นน้ำ หรือแนวกระสอบทรายที่มีอยู่เดิม ส่วนแนวคันกั้นน้ำใดที่เป็นจุดอ่อนก็ขอให้ช่วยเสริมความแข็งแรงเพิ่มเติม เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำไปอีกระยะ
นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้ช่วยปลัด กทม. กล่าวถึงการเตรียมรับมือน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ว่า จุดอ่อนเพียงจุดเดียวของ กทม.ในขณะนี้คือ พื้นที่ฝั่งตะวันออก ในเขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ของ กทม.จะระดมกำลังสร้างคันอีกชั้นด้วยการเสริมแบริเออร์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการป้องกันน้ำที่คลองหกวาตอนล่าง ความยาวประมาณ 6 กม. เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่จะไหลลงมาจากทางเหนือเข้าท่วมพื้นที่ดังกล่าวได้
ส่วนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกทม. จะมีเขื่อนรองรับน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนได้ 100% แล้ว ขณะที่พื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกองทัพเรือ ที่ช่วยทำแนวคันป้องกั้นน้ำในคลองทวีวัฒนาได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว