สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จากเหตุการณ์น้ำท่วม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกเครียดต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารน้ำท่วม โดยส่วนใหญ่ 44.36% ระบุว่าค่อนข้างเครียด เพราะกลัวบ้านตัวเองจะถูกน้ำท่วมและเห็นใจผู้ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้, เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงของประเทศไทย ส่วนอีก 29.37% ระบุว่าเครียดมาก เพราะมีการนำเสนอข่าวน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับเดือน ทำให้เกิดการวิตกกังวล
ขณะที่ประชาชน 16.69% ระบุว่า ไม่ค่อยเครียด เพราะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมไว้แล้ว, มั่นใจว่าที่บ้านไม่ท่วม, ส่วนราชการมีการป้องกันอย่างเต็มที่ และอีก 9.58% ระบุว่าไม่เครียด เพราะคิดว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรรับฟังอย่างมีสติและเตรียมรับมือหรือป้องกันจะดีกว่า
โดยวิธีคลายเครียดและวิตกกังวลของประชาชนจากกรณีน้ำท่วมนั้น ส่วนใหญ่จะหยุดติดตามข่าวสารน้ำท่วมสักพัก หากิจกรรมอย่างอื่นมาทำแทน /พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อจะได้ระบายความวิตกกังวลออกมา/ ไม่คิดวิตกกังวลอยู่คนเดียว
ส่วนความคิดเห็นต่อการช่วยเหลือของประชาชนกับประชาชนที่ถูกน้ำท่วมนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 57.94% เห็นว่าคนไทยต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ /การบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ และแรงกายแรงใจ รองลงมา 33.67% รู้สึกซาบซึ้งถึงน้ำใจของคนไทยด้วยกัน คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก สามัคคี และอันดับสาม 8.39% เห็นว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสจากเรื่องน้ำท่วมมาแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเอง
ทั้งนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยนของการสร้างความปรองดองการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านได้หรือไม่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 42.33% ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมกับเรื่องการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน และยังไม่เห็นทั้ง 2 ฝ่ายมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง
รองลงมา 29.55% ตอบว่าได้ เพราะความสามัคคี ปรองดองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ การร่วมแรงร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญ ฯลฯ ขณะที่อีก 28.12% ตอบว่าไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีวิธีการหรือมีแนวคิดที่แตกต่างกัน, เป็นธรรมชาติของการเมืองไทยที่จะต้องมีการแบ่งขั้วทางการเมือง
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับน้ำท่วมนั้น อันดับ 1 มองว่าควรศึกษาวางแผนระบบการระบายน้ำ เส้นทางน้ำต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ /การเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อไป อันดับ 2 ระดมความคิดเห็นทั้งผู้เชี่ยวชาญในไทยและจากต่างประเทศมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และอันดับ 3 การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเรื่องน้ำท่วมในการรับมือและป้องกันเมื่อจะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วม/นำเรื่องน้ำท่วมขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนหรือเป็นวาระแห่งชาติ
โดยบทเรียนที่คนไทยได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ อันดับ 1 น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ อันดับ 2 ภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการป้องกัน แก้ไขเรื่องน้ำท่วมในระยะยาวอย่างจริงจังและจะต้องทำทันที และอันดับ 3 วิกฤติการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ/ ขาดการสำรวจความพร้อมของการรองรับน้ำจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ เขื่อน แม่น้ำ คูคลอง และทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากใช้การโทรศัพท์สัมภาษณ์และลงพื้นที่ในบางส่วนจากตัวแทน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,634 คน ระหว่างวันที่ 10-15 ตุลาคม 2554