คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ว่า ขณะนี้ ศปภ.กำลังบริหารจัดการเพื่อให้มวลน้ำทั้งหมด 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งทิศทางการระบาย 3 ส่วน คือ 1.ระบายลงสู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งมวลน้ำก้อนนี้ถือว่าใหญ่สุด คิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งหมด 2.ระบายลงคลองต่างๆ และแม่น้ำเจ้าพระยา และ 3.ระบายลงสู่ฝั่งตะวันตก คือ ปทุมธานี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร
ดังนั้น จึงเชื่อว่าสถานการณ์ในกทม.ชั้นในจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน หรือหากเกิดเหตุคันกั้นน้ำส่วนใดแตกลงเหนือความคาดหมาย ก็จะไม่ทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่ทะลักเข้ามาพื้นที่กลางเมืองอย่างรวดเร็วเหมือนที่เกิดกับเขตบางบัวทองและบางใหญ่ ถือว่าในกรณีเลวร้ายสุดก็ยังมีเวลาถึง 2 วัน เพราะจะต้องผ่านแนวคันกั้นน้ำ 3 ชั้น
"แนวคันกั้นน้ำทั้ง 3 ชั้นยังไม่มี sign ว่าจะมีการแตก...แต่พื้นที่ฝั่งตะวันตก ศปภ.เร่งให้มีการผลักดันน้ำลงสู่คลองต่าง ๆ เพื่อออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าน้ำจะท่วมขังในพื้นที่นี้นานพอควร"คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่า แนวทางของรัฐบาลและ ศปภ.ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อป้องกันพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นมวลน้ำก้อนใหญ่ถึง 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรที่หลากลงมาจ่อเหนือ กทม.ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.คงจะทะลักข้าท่วมไปแล้ว
"ระดับน้ำ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนภูมิพลทั้งเขื่อนมาจ่อปาก กทม.ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. มาตรการที่รัฐบาลและ ศปภ.ทำ ถือว่า work เพราะไม่เช่นนั้น กทม.คงจมไปแล้ว" ที่ปรึกษา ผอ.ศปภ.ระบุ